เมืองไทย 360 องศา
ล่าสุด นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ มีสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็น “บิ๊กเนม” และไม่ใช่บิ๊กเนม ต่างทยอยลาออกกันเป็นแถว จนจำไม่ได้แล้วว่าออกไปกี่คน แต่สำหรับอดีตสมาชิกพรรครายนี้ ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะว่าไปแล้วเขาอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เป็นไม่ต่างจาก “สัญลักษณ์” ของพรรค ที่ผ่านมา มีบุคลิกและบทบาทน่าจดจำหลายอย่าง ทั้งคำพูดและหลักการ ล้วนเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญ การเป็นสมาชิกพรรคถึง 36 ปี มันย่อมมีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว
ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ การลาออกครั้งนี้ของนายไตรรงค์ ไม่ใช่ลาออกกลับไปอยู่บ้านเงียบๆ แบบเกษียณตัวเอง แต่ยังมีปลายทางอยู่ข้างหน้า ทั้งการที่มีการเปิดเผยจากคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง นั่นคือ จากปากของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ที่เผยว่า นายไตรรงค์ ได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ให้ไปเป็นที่ปรึกษา
ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานข่าวค่อนข้างยืนยันได้ว่า นายไตรงค์ สุวรรณคีรี จะย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรค ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย ดังนั้น ทั้งสองเรื่องดังกล่าวถือว่าน่าจับตา เพราะมีผลกระทบกลับมาถึงพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างหลัง หากมาร่วมงานกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ
สำหรับเรื่องแรกที่บอกว่ามีผู้ใหญ่ทาบทามให้มาเป็น “ที่ปรึกษา” หากให้เดาล่วงหน้าก็น่าจะมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในโอกาสต่อไป ส่วนเรื่องที่สองที่ระบุว่าจะย้ายไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ นี่แหละที่จะสร้างผลกระทบและสั่นสะเทือนกับพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง โดยเฉพาะในสนามการเมือง สนามเลือกตั้งภาคใต้ และก็อย่าได้แปลกใจที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรค จะมีปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรง แม้ว่าจะพยายามเก็บอาการ ก็ตามที
“เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งก็มีทั้งคนเข้า คนออกกันทุกพรรค ไม่มีพรรคไหนเป็นข้อยกเว้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการเมือง หากเราติดตามการเมืองมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถัดจากนี้ ผมคิดว่าความถี่ของคนเข้าคนออก ไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แต่หมายถึงทุกพรรค หากติดตามใกล้ชิดก็จะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะบางครั้งก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น บางพรรคมีผู้สมัครเกิน เพราะแต่ละเขตอาจตัดสินใจให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้คนเดียว แต่ถ้ามีคนสนใจจะลง 2 คน 3 คน เพราะฉะนั้นคนที่พรรคตัดสินใจที่จะไม่เลือก ถ้าต้องการที่จะลงสมัครผู้แทนก็ต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่ อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของความจำเป็นที่ต้องการย้ายพรรค”
“ปรากฏการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นในบางพรรคที่มีกรณีอย่างนี้ หรือบางกรณี เมื่อถึงเวลาลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็อาจจะมีเงื่อนไข 1-2-3-4-5 แล้วบางพรรคการเมืองไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้ หรือได้ไม่ครบถ้วน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการย้ายพรรค หรือบางครั้งอาจจะอยู่ในพรรคเดิม อาจจะถึงทางตันแล้ว ถ้าหากไปอยู่พรรคอื่น หรือไปอยู่พรรคใหม่อาจจะมีโอกาส หรือมีคนมาเสนอให้ ก็อาจจะเป็นเหตุผลในการตัดสินใจที่จะย้ายพรรค แต่ละสาเหตุก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน”
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการรับมือต่อสถานการณ์ถูกดูดลูกพรรคหลังการประชุมเอเปก ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีคนใหม่เดินเข้าพรรคก็เยอะ แต่คนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ตนก็ไม่สามารถจะไปตอบได้ว่าใครจะอยู่ ใครจะย้ายอย่างไร แต่ในการตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้านับหนึ่งตั้งพรรคเพื่อจะมาดูดคนจากพรรคโน้นพรรคนี้ไป แล้วไปตั้งเป็นพรรคการเมือง สุดท้ายพรรคการเมืองอย่างนี้ก็จะกลายเป็นพรรค “รวมพลคนย้ายพรรค”
“ประวัติศาสตร์มันสอนเราว่า มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพราะว่าไปดูดรวมกันเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุน นาย ก. นาย ข. นาย ค. พอหมดภารกิจก็ยุบพรรค หรือไม่ก็ต้องเลิกราไปโดยปริยาย เพราะประชาชนไม่สนับสนุน แล้วสุดท้ายพรรคเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากไป ผมคิดว่าเราเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีต่อเนื่องกันมาในวงการการเมืองไทย”
ตนคิดว่า ประชาชนก็ได้เห็นบทเรียนกับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคการเมือง ควรจะเป็นเรื่องของการเอาคนที่ตั้งใจ และมีอุดมการณ์เดียวกันในการมาสร้างพรรคขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แต่ไม่ใช่ไปดูดพรรคโน้นมา 5 คน ดูดพรรคนี้มา 7 คน แล้วมารวมกันกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าชะตากรรมพรรคการเมืองแบบนี้เป็นอย่างไร ประชาชนไม่ควรสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องเฉพาะกิจจริงๆ เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าความเป็นพรรคการเมือง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังมีคนที่ยังมั่นคงอยู่กับพรรคอีกจำนวนมาก และมาถึงวันนี้พรรคยังหายใจได้เต็มปอด เพราะยังมีออกซิเจนใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มเป็นลำดับ ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยวานนี้ตนได้เปิดตัวผู้สมัครที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ยากสำหรับประชาธิปัตย์ แต่เราก็มีคนใหม่ๆ เข้าพรรคมา และพร้อมลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรค และที่ผ่านมา ตนก็เพิ่งไปเปิดตัวผู้สมัครที่จังหวัดสมุทรสาคร พรรคก็มีผู้สมัครหน้าใหม่ 3 คน และมีอดีตผู้แทนราษฎรที่เคยเป็นผู้แทนแล้วอีก 1 คน เราก็มีเลือดใหม่เข้ามาเติมเต็มในการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคอยู่ ซึ่งในวันที่ 5-7 พ.ย.นี้ ก็จะไปเปิดตัวผู้สมัครอีกหลายเขต ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือว่าเป็นการบ้านข้อสำคัญของประชาธิปัตย์ และเราก็มีคนรุ่นใหม่ คนหน้าใหม่ ที่พร้อมจะเดินเข้ามากับพรรคประชาธิปัตย์ และมีศักยภาพ เป็นอดีตผู้แทนราษฎรก็มี เป็นสุภาพสตรีก็มี มีทั้งเป็นคนที่มีโปรไฟล์ดี มีศักยภาพ มีอุดมการณ์ มีความตั้งใจดี สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนเดินเข้าพรรคก็เยอะ
สำหรับในภาคใต้ ทุกอย่างยังมั่นคงแข็งแรง ขณะนี้เราได้ตัวผู้สมัครเกือบจะครบหมดแล้วทั้ง 58 เขต และจะทยอยเปิดตัวไป ที่ ชุมพร สงขลา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ก็ได้เปิดตัวไปแล้ว และในวันที่ 12 พ.ย.นี้ จะได้เปิดตัวผู้สมัครจังหวัดนครศรีธรรมราช ครบทุกเขต รวมทั้งจะได้ทยอยเปิดตัวผู้สมัครที่ ภูเก็ต พังงา และจังหวัดชายแดนใต้ ต่อไป ส่วนจังหวัดพัทลุงก็มีผู้สมัครครบแล้ว ถือว่าภาคใต้ครบหมดแล้ว ซึ่งมีทั้งผู้แทนราษฎรปัจจุบัน อดีตผู้แทน และมีคนใหม่ๆ ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรค
แน่นอนว่า คำพูดของ นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดในทำนองว่า เมื่อคนเก่าออกไป ก็มีคนใหม่เข้ามาจำนวนมากเช่นเดียวกัน และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสมาชิกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.ที่มีเงื่อนไขและเหตุผลต่างกัน แต่ที่ต้องโฟกัสกันก็คือการที่เขาเน้นไปที่พรรคเฉพาะกิจ หรือ พรรครวมพลคนย้ายพรรค ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนใครบางคน ที่เชื่อว่าจะอยู่ได้ไม่นาน แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค แต่พรรคเกิดใหม่ที่ว่านั้นมีอยู่หลายพรรค และในความเป็นจริงก็เป็นที่สังกัดของอดีตสมาชิกพรรคและส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไหลเข้าไปจำนวนมาก ไล่มาตั้งแต่ ไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มี นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา ไปร่วม เป็นต้น พรรคกล้า ที่กลายมาเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า ก็มีหลายคน
รวมไปถึงพรรคที่ต้องจับตา ก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และมี นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และระดับ “บิ๊กเนม” มาร่วมหลายคน ที่ถือว่าเข้าข่าย ก็เพราะว่าพรรคนี้ยังมีเป้าหมายกวาดที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้อีกด้วย และที่ผ่านมา เพิ่งมีการประกาศเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดชุมพร ในเครือข่ายของ “ลูกหมี” นายชุมพล จุลใส จนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีตลูกหม้อประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาซบพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ประกาศตั้งศูนย์ประสานงานของพรรคที่นครศรีธรรมราช เตรียมสำหรับสู้ศึกเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
แม้ว่าสนามการเลือกตั้งในภาคใต้ หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้วยังถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นตัวเลือกสำคัญ เนื่องจากครองพื้นที่มานาน แต่หลังจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วเป็นต้นมา ที่ต้องเสียที่นั่งให้กับพรรคอื่น เช่น พรรคเกิดใหม่ในตอนนั้นอย่าง พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงพรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญในหลายพื้นที่อีกด้วย
โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตามไทม์ไลน์ ระบุว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตามผลโพลระบุว่า ยังได้รับความนิยมมาเป็นที่หนึ่ง มันก็ยิ่งสะเทือนกับพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ และหากตามข่าวยังระบุอีกว่า “ดร.สามสี ภูเขาทอง” ที่ถูกทาบทามมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ และสมาชิกพรรครวมไทยฯ เพียงแค่นี้หลับตาก็มองเห็นภาพแล้ว และน่าจะเป็นคำตอบว่า ทำไมหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึงได้มีปฏิกิริยาจนเก็บอาการไม่อยู่!!