xs
xsm
sm
md
lg

สกมช.-หัวเว่ย ปั้นคนไทยรับมือภัยคุกคามไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกมช. จับมือ หัวเว่ย จัด “Thailand Cyber Top Talent 2022” หวังพัฒนาคนไทยรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน พร้อมเฟ้นหาตัวแทนแข่งขันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เวทีโลก

วันนี้( 23 ต.ค. )พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนของ สกมช. ในการเดินหน้ายกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทัดเทียมในระดับสากล สกมช. จึงร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย ภายใต้โครงการ “Thailand Cyber Top Talent 2022” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมการแข่งขันได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะสู่การเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงเป็นการสร้างบุคลากรไซเบอร์ออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ให้กับบุคคลทั่วไปมากขึ้น

“ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเรื่องการขาดบุคลากรด้านไซเบอร์ในโลกดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ดังนั้น สกมช. จึงจับมือกับหัวเว่ย เร่งพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมุ่งหวังจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์”

สำหรับ Thailand Cyber Top Talent 2022 เริ่มต้นรอบคัดเลือก เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ต.ค. 65 ผ่านระบบออนไลน์ เวลา 09.00 – 17.00 น. รวมเวลาการแข่งขันทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งรอบคัดเลือกเป็นการแข่ง Capture the Flag ในรูปแบบ Jeopardy คือ ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกทำโจทย์หัวข้อใดก่อนก็ได้ คะแนนของโจทย์แต่ละหัวข้อจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับความยากง่ายของโจทย์ โดยมีหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ Web Application, Digital Forensic, Reverse Engineering & Pwnable, Network Security, Mobile Security, Programming และ Cryptography ซึ่งมีทีมที่ทำคะแนนได้ จำนวน 92 ทีม ก่อนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Ballroom โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 521,000 บาท โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบและร่วมการแข่งขันทั้งหมด 30 ทีม เป็นการแข่งขัน CTF Jeopardy ในรูปแบบ Attack the virtual World โดยผู้เข้าแข่งขันต้องหาคำตอบจากเครื่องแม่ข่าย เครื่องผู้ใช้งาน และอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบจำลองด้วยการโจมตีจากภายนอก และต้องหาคำตอบจากร่องรอยในเครื่องแม่ข่ายที่ถูกโจมตี

ผลปรากฏว่า ทีมชนะเลิศในแต่ละระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา อันดับ 1 ทีม P1NGUF4M1LY โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม อันดับ 2 ทีม HackYouSoMuch จากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย โรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ และอันดับ 3 ทีม Hatyai จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ระดับอุดมศึกษา อันดับ 1 ทีม Rebooster โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อันดับ 2 ทีม blueberry จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอันดับ 3 ทีม RedCheep จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และระดับประชาชนทั่วไป อันดับ 1 ทีม 5555 อันดับ 2 ทีม PoE อันดับ 3 ทีม Take off your shoe โดยสามารถติดตามพิธีการรับรางวัล และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทาง FACEBOOK : NCSA Thailand ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ “ไซเบอร์ ซีเกม 2022 (Cyber SEA Game 2022) ในเวทีนานาชาติด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น