ในปัจจุบันความสำคัญด้านความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กร ถือเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) รวมถึงการอนุมัติร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ผ่านมาในปีนี้ ทางองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมนโยบาย และแผนดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับพรบ. และแผนปฏิบัติการ ความปลอดภัยของข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป นายไพบูลย์ พนัสบดี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ จึงได้พูดคุยหารือกับ ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง จาก depa และจัดตั้งโครงการ White Hat Hacking for Security เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้าน Cybersecurity เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จากโครงการ White Hat Hacking for Security 2020 และ 2021 ทาง depa และ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรในการสร้างบุคลากรทางด้าน Cybersecurity เพื่อรองรับสังคมดิจิทัลในยุค Work from home เนื่องจากนโยบายการทำงานขององค์กรที่เปลี่ยนไป ทำให้แผนการป้องกันข้อมูลต้องถูกพัฒนาไปพร้อมกันตามยุคสมัย แต่บุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์กลับขาดแคลนเป็นอย่างมาก ทั้งกำลังพล ความรู้ และความเชี่ยวชาญ เพราะยังถือว่าเป็นวิชาชีพใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก จึงเป็นโอกาสของคนที่กำลังมองหาอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล ที่เปิดโอกาสด้านความก้าวหน้าของสายอาชีพ โอกาสในการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความต้องการในตลาดการจ้างงานยังมีเป็นจำนวนมาก
โครงการ White Hat Hacking for security 2022 ได้รับเกียรติจาก นางสาวสุชนา สินธวถาวร รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และ ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง เป็นประธานในพิธีกิจกรรม Capture the Flag ณ อาคารมหาวชิรุณหิศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.รตินันท์ บุญเคลือบ หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นความสำคัญในกิจกรรมดังกล่าว จึงร่วมสนับสนุนสถานที่การจัดกิจกรรม Capture the Flag ครั้งนี้ขึ้น
สำหรับโครงการในปีนี้ ได้เพิ่มการทดสอบความรู้ขั้นพื้นฐานก่อนเริ่มเรียน เพื่อทดสอบระดับความรู้ของบุคลากรในด้าน Cybersecurity และหากบุคลากรท่านใดที่ไม่ผ่านการทดสอบ จะมีการปูพื้นฐานให้ใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนอย่างสูงสุด ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านระบบ online ในรูปแบบเกมมิ่งผ่านแพลตฟอร์ม Gather Town ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้สะดวก ง่าย ไม่รู้สึกเบื่อ และยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนท่านอื่น และอาจารย์ได้เสมือนกับเรียน offline ทั้งยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเรียนที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นการเปิดโอกาสสู่ภูมิภาคเป็นอย่างดี
ซึ่งกิจกรรมนี้ได้เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ถึง 16 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมถึง 142 คนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ และในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมการแข่งขันทดสอบด้านการเจาะระบบ (Penetration Testing) Capture The flag โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ การแข่งขันของทีมโจมตี (Red Team) และทีมป้องกัน (Blue Team)
ในการแข่งขันครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลของทีมโจมตี ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ คุณโสภณ ตั้งปทุม
รองชนะเลิศอันดับ 1 คุณบวรทัต ทรัพย์ทวีวศิน
รองชนะเลิศอันดับ 2 คุณอรุณ ลิ้มวงศ์เจริญสุข
ผู้ที่ได้รับรางวัลของทีมป้องกัน ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ คุณพัชระสิทธิ์ พรสกุลศักดิ์
รองชนะเลิศอันดับ 1 คุณเอกณัฏฐ์ อเนกเจริญวณิช
รองชนะเลิศอันดับ 2 คุณนนท์รวิศ ชมชื่น
สำหรับท่านที่สนใจโครงการด้านการพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิทัล สามารถติดตามสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ หรือ ต้องการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ติดตามได้ทางเพจของสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (https://www.facebook.com/ThaiProgrammerSociety)