“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบ หารือเอกอัครราชทูตเปรู กระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุน และความร่วมมือในกรอบเอเปก พร้อมยืนยันความพร้อมต้อนรับผู้นำเปรูเข้าร่วมประชุมเอเปกที่ไทย
วันนี้ (20 ต.ค.) เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเซซิเลีย ซูนิลดา กาลาร์เรตา บาซัน (H.E. Miss Cecilia Zunilda Galarreta Bazán) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตเปรู แสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และการทำงานของเอกอัครราชทูตเปรู จะส่งผลให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับเปรูเพิ่มพูนมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทยมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตเปรู อย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เอกอัครราชทูตเปรู รู้สึกยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ การหารือในวันนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กระชับความสัมพันธ์ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่สวยงาม มีความสัมพันธ์กับเปรูอย่างราบรื่นและใกล้ชิด นอกจากนี้ ไทยและเปรูยังมีความร่วมมือที่ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางด้านการพัฒนา ความร่วมมือในพหุภาคี และในกรอบเอเปก
ความร่วมมือด้านการค้า ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า การค้าของไทยกับเปรูยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งไทยและเปรูต่างมีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาหารรายใหญ่ของโลก โดยนายกรัฐมนตรี มองว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับนโยบายของเปรูที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานชีวภาพ และการเกษตรยั่งยืน ทั้งเกษตรอินทรีย์และคาร์บอนต่ำ
ด้าน เอกอัครราชทูตเปรู ชื่นชมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ว่า สอดคล้องกับนโยบายของเปรู และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โอกาสนี้ เปรูเชิญชวนภาคธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน โรงพยาบาล และภาคบริการต่างๆ ซึ่งไทยมีศักยภาพ และสามารถเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเปรูได้ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเปรู ยังเห็นพ้องกับไทยในการสานต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน และภาคเอกชนทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-เปรู อย่างเต็มที่ เอื้อต่อการขยายตัวของการส่งออก และขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
ความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนา นายกรัฐมนตรียินดีที่คณะผู้แทนจากเปรูได้เดินทางมาไทยเพื่อร่วมโครงการด้านการท่องเที่ยว เชิงศิลปะด้านอาหารเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับเปรู ในสาขาที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตเปรู ยินดีอย่างยิ่งที่จะแสวงหาความร่วมมือกับไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรี พร้อมส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีกับเปรู รวมถึงความร่วมมือในกรอบพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ซึ่งทราบว่า เปรูได้เสนอโครงการความร่วมมือด้านดิน และการจัดการปุ๋ยในกรอบพันธมิตรแปซิฟิก ไทยพร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือดังกล่าวกับเปรู ด้านเอกอัครราชทูตเปรู ยินดีแสวงหาความร่วมมือกับไทยเพิ่มเติมในเรื่องการเกษตร การทำฟาร์ม และ ปุ๋ย โดยมองว่าเป็นสาขาที่ฝ่ายไทยมีความเชี่ยวชาญ
สำหรับความร่วมมือในกรอบเอเปก เอกอัครราชทูตเปรู กล่าวว่า นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส ประธานาธิบดีเปรู ยืนยันการเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นโอกาสให้หารือถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน นายกรัฐมนตรี พร้อมต้อนรับประธานาธิบดีเปรู ในการเข้าร่วมการประชุม พร้อมกล่าวขอบคุณเปรูที่ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย โดยหัวข้อหลักและประเด็นในการประชุมครั้งนี้สอดคล้องกับประเด็นที่เปรูให้ความสนใจ โดยเฉพาะการสนับสนุนการค้าพหุภาคีและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยั่งยืน ครอบคลุม และพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต โดยการประชุมที่ไทยจะเป็นผลต่อเนื่องที่สำคัญ ปูทางไปสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปคของเปรูในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่