xs
xsm
sm
md
lg

12 ต.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 6 ขยายโอกาสลงทุนใน EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า 12 ต.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ (STEER) ครั้งที่ 6 ขยายโอกาสลงทุนใน EEC ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรไทย

วันนี้ (11 ต.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ใช้เป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์
การประชุม STEER ครั้งที่ 6 นี้ มีการเพิ่มเติมประเด็นความร่วมมือในเรื่องใหม่ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในธุรกิจ BCG การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งไทยได้กำหนดท่าทีในการประชุมไว้ดังนี้

1. ด้านสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ในครั้งนี้ ไทยต้องการส่งออกไข่ออร์แกนิคและไข่นกระทาเพิ่มเติม จากสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกอยู่แล้ว เช่น สัตว์ปีกสดแช่แข็ง สัตว์ปีกปรุงสุก เนื้อหมูสดแช่แข็งและแช่เย็น ไข่ไก่ รังนกตากแห้ง ข้าว สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

2. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หารือแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

3. ด้านการลงทุน ส่งเสริมและเชิญชวนนักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การพัฒนาโครงข่ายทางถนน ท่าเรือสำราญ พื้นที่อุตสาหกรรมการบิน และการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในธุรกิจ BCG

4. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า พัฒนาความร่วมมือของกรมศุลกากรไทยและสิงคโปร์

5. ด้านการท่องเที่ยว หารือความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ

6. ด้านการบิน ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศและบันทึกความร่วมมือด้านการบิน ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มสิทธิการบิน ปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบิน เป็นต้น

7. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยและ Intellectual Property Office of Singapore (IPOS) ฉบับใหม่ รวมถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566-2567

8. ความร่วมมือสาขาใหม่ จะหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประโยชน์ที่ได้รับจากการประชุม STEER ครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงเชิญชวนให้สิงคโปร์ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่ง
ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย และเป็นอันดับที่ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสิงคโปร์” นางสาวรัชดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น