xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะรัฐจับมือเอกชนปรับอุตสาหกรรมพลิกเกม ศก.รับโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” แนะรัฐจับมือเอกชนพลิกเกมรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ หนุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG โมเดล และลดโลกร้อนเพื่อสร้างความแกร่งให้ระบบศก.ไทยยังคงได้เปรียบในเวทีโลก


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 ในหัวข้อ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง? ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับ Perfect Storm หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทำให้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่ต้องพลิกเกมใหม่โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นชุดไหนควรต้องต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมต้องมุ่งเน้นการขับเคลื่อน First Industries ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ซึ่งกำลังถูกเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหรือดิสรัปชัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้น แม้ไม่ได้หมายความว่าจะรอดก็ตาม 2. Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มุ่งเน้น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2. BCG โมเดลที่อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่นำวัตถุดิบในแต่ละอุตสาหกรรมพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตรและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม และ 3. ความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ไทยเป็นประเทศส่งออกเกือบ 60% ของจีดีพี ทำให้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ในการส่งออกของประเทศต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นความแข็งแกร่งที่ไทยได้ประโยชน์

“สิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ ความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ใครจะมาเป็น อะไรที่ทำต่อได้ก็ต้องทำ ไม่ควรเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่อีกครั้ง ภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันพลิกเกมเพราะถ้าพลิกได้เกมนี้จะเป็นของประเทศ ที่ผ่านมาเราก็รอดมาตลอดแต่เราจะรุ่งหรือไม่อยู่ที่พวกเรา โดยการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมต้องทำอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้นำด้าน Green Economy" นายเกรียงไกรกล่าว

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ซึ่งอุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมก็ถูกดิสรัปชัน ขณะที่ภายในประเทศก็เจอปัญหาการขาดแรงงาน เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้อัตราการเกิดลดลงถึง 3 แสนคน ทำให้จุดที่เคยได้เปรียบในอดีตโดยเฉพาะแรงงาน ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะค่าแรงของไทยไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงโตเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น

“ภาคการผลิตเราเจอภาวะต้นทุนที่สูงทั้งวัตถุดิบนำเข้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ยิ่งมาเจอกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟทีที่รวมค่าไฟฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยขณะที่คู่แข่งเราอย่างเวียดนามถูกกว่ามาก ทำให้อุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ผลิตแบบเดียวกัน แต่แค่เปิดเครื่องผลิตก็แพ้แล้ว เพราะต้นทุนต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพราะแค่เห็นค่าไฟนักลงทุนก็เป็นลมแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาหนักของภาคอุตสาหกรรมไทยจึงต้องการให้รัฐต้องดูแลแก้ไข” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น