ได้เวลาสะสางใหญ่! “หมอวรงค์” เผยธาตุแท้การเมืองไทย ตกอยู่ใต้กุมบังเหียนของ “นายทุนพรรค” เสนอ 7 ข้อ ปฏิรูปทั้งระบบ “ดร.เสรี” งง ผู้มีอำนาจหน้าที่ ปล่อยคนสัญชาติอื่นครอบงำพรรค “โทนี่” ส่งซิกรับ “ธรรมนัส”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความระบุว่า
“#ปฏิรูปสถาบันการเมืองทั้งระบบก่อน
ระหว่างปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กับปฏิรูปสถาบันการเมืองทั้งระบบ เราควรจะไปทางไหนดี
ผมคงไม่ต้องพูดถึง เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ เพราะโดยสาระนั้น เป็นการลดสิทธิต่ำกว่าความเป็นประชาชน ด้วยรูปแบบหยาบคาย ให้ร้าย ข้อมูลเท็จ จนศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่านี่คือการล้มล้าง
ในฐานะที่ผมเป็นนักการเมือง สิ่งที่ผมเห็น พรรคการเมืองส่วนใหญ่ๆ แต่ละพรรค มีเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุน นับพันล้านบาท มีการซื้อ ส.ส. แม้ กกต.จะกำหนดให้ ส.ส. 1 คน มีค่าใช้จ่าย 1.5 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง การใช้จ่ายในพื้นที่ สูงถึง 20-30 ล้านบาท ต่อเขตต่อคน
ส.ส.ส่วนใหญ่ มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง ในสภาเรายังได้ยินคนพูดถึงกล้วย รวมทั้งมีข่าวรับเงินเพื่อล้มรัฐบาล จึงไม่แปลก ประชาธิปไตยจึงเป็นแบบนี้
แม้จะมี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจสุดท้าย จึงอยู่ที่นายทุนพรรคที่ลงทุน ส.ส.จึงมีหน้าที่ เดินตามนายทุนพรรคกำหนด ออกกฎหมาย ระเบียบ สัมปทานเพื่อเอื้อผลประโยชน์
ยกเว้นบางพรรค นายทุนลงมาเล่นเอง จ่ายเอง ส.ส.ก็มีหน้าเดินตามเจ้าของพรรค กำหนดทิศทางให้เล่น ถ้านายทุนพรรคนี้ต้องการ ล้มล้างสถาบัน ทุกคนก็จะเดินตาม
ถ้าพรรคนี้ต้องการโกงอย่างเดียว ทุกคนก็จะเดินตาม โดยที่ทุกพรรคอ้างมาจากประชาชน แต่ก็ไม่เคยเห็นหัวประชาชน ยกเว้นตอนหาเสียงเท่านั้น
การปฏิรูปสถาบันการเมืองทั้งระบบ จึงต้องทำลายการใช้เงินทุน ในระบบการเมืองให้ได้ ทั้งการที่ทุนใหญ่บริจาค หรือนายทุนลงมาเล่นเอง รวมทั้งกกต.จะต้องวางระบบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้เทคโนโลยีที่มีอยู่ (ไม่พูดถึงระบบการเลือกตั้ง) โดยมีหลักคิดกว้างดังนี้
1. ต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองที่อ้างว่า เป็นพรรคของประชาชนนั้น ไม่มีอยู่จริง ทุกพรรคมีเจ้าของ จะเป็นนายทุนลงมาเล่น หรือทุนใหญ่จ่ายอยู่ข้างหลัง
2. การที่คนดี มีความสามารถ อยากจะเสียสละ เอาความรู้ความสามารถมาช่วยชาติ บ้านเมือง ทำไมจะต้องให้เขาเสียเงิน หรือไปขอเงินจากเจ้าของพรรค หรือนายทุนพรรค
3. ถ้ายังปล่อยให้มี การลงทุนทั้งส่วนตัว หรือจากนายทุน มีการซื้อสิทธิขายเสียง จึงเกิดการถอนทุน นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน เอื้อธุรกิจทุนผูกขาด เป็นวงจรอุบาทว์ มีการรายงานว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ตกปีละ 300,000 ล้านบาท
4. แม้รัฐธรรมนูญ จะให้สิทธิ ส.ส.เป็นอิสระ แต่การรับเงินเขามาแล้ว ส.ส.จึงไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน แต่เกรงใจนายทุน ทำให้พรรคการเมือง ต้องตอบสนองนายทุน มากกว่าประชาชน พรรคการเมืองจึงไม่ใช่ รวมกันเพราะอุดมการณ์ แต่รวมเพราะเงินทุน และผลประโยชน์
5. กกต.ควรตั้งงบประมาณ หาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่ผ่านเกณฑ์พรรค กำหนดรายละไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่ต้องติดป้ายใหญ่ ข้างถนนจนเลอะ ทำเหมือนประเทศพัฒนา เช่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ ให้ติดป้ายขนาดเล็ก เอ3 หรือ เอ4 ตามบอร์ดที่กำหนด มีรถหาเสียง 1 คัน ให้ผู้สมัครปราศรัย
6. การใช้จ่ายผู้สมัคร ให้ใช้ mobile banking เพราะระบบจะถูกบันทึกทั้งหมด ตรวจสอบง่าย ใครใช้จ่ายเงินสด ถือว่าผิดกฎหมาย และคนรับเงินไม่ผิด พร้อมมีสินบนนำจับ เพื่อป้องกันการซื้อขายเสียง ใครใช้เงินผิดประเภท ผิดระเบียบ ระบบจะบันทึกไว้หมด
7. กกต.เป็นองค์กรที่ควบคุมการเลือกตั้ง ต้องเข้มงวดต่อการซื้อเสียง นโยบาย ที่นำไปสู่การจาบจ้วง ล้มล้างสถาบัน รวมทั้งนโยบาย ที่นำไปสู่ความเสียหายของประเทศ
แค่วางกฎเกณฑ์ ตัดระบบทุนออกจากการเลือกตั้ง โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ใช้งบแผ่นดินไม่มาก จะคุ้มค่ามากที่นักการเมือง ไม่ต้องอาศัยกลุ่มทุน เปิดโอกาสให้คนดีๆ มาเสียสละเพื่อบ้านเมือง
ไตร่ตรองดูครับ เป้าหมายประเทศ คือตอบสนองความต้องการประชาชน เพื่อความอยู่ดีกินดี เราควรปฏิรูปสถาบันการเมืองทั้งระบบ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์”
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“เรื่องคนสัญชาติอื่นครอบงำพรรคนี่ มันยังไม่ชัดอีกหรือไร ทำไมไม่มีการจัดการอะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะให้ประชาชนไว้ใจได้อย่างไร แล้วใครจะมองว่า กฎหมายศักดิ์สิทธิ์
“เกรงใจกัน” หรือ “ไม่กล้าเป็นศัตรู” หรือ “มีผลประโยชน์อันใด” ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ทำไมคนที่ทำ เขาจึงกล้าทำโดยไม่กลัวกฎหมาย
ประชาชนเห็น แต่ทำไมผู้รักษากฎหมายจึงไม่เห็น
ทำไมจึงปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ไม่คิดจัดการอะไรเลยหรือ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะมีกฎหมายเรื่องห้ามคนนอกพรรคครอบงำไว้ทำไม”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก CARE แคร์ คิด เคลื่อน ไทย ได้ไลฟ์สด การพูดคุยกับ โทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร ในหัวข้อ ปราบยาบ้า-คุมอาวุธปืน คืนความสุขที่แท้จริงให้คนไทย
โดยตอนนหนึ่ง นายทักษิณ กล่าวถึงกระแสข่าวการดีลกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ให้เข้ามาอยู่พรรคเพื่อไทย ว่า ไม่มีดีลนี้แน่นอน ไม่เกี่ยว เพราะไม่มีหน้าที่อะไรต้องไปดีล ถามว่ารู้จักไหมรู้จัก เพราะเป็นคนเหนือ เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อน เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง
“ที่ผ่านมา เคยพูดไว้ว่า ศิษย์เก่าไทยรักไทยทั้งหลาย มีเยอะอยู่ในวงการเมือง ถ้าคนไหนออกไป ไม่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค และเขาอยากกลับมาก็ไม่น่าเสียหายอะไร แต่คนที่ออกไปเป็นปฏิปักษ์กับพรรคก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
แน่นอน, ถ้าว่าไปแล้ว การเมืองไทย ยังคงเวียนไหว้ตายเกิดอยู่กับ “วงจรอุบาทว์” หรือ “วงจรน้ำเน่า” อย่างไม่มีทางหลุดพ้น เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ก็แค่กลวิธีในการซื้อสิทธิขายเสียงเท่านั้น ที่พยายามหลบเลี่ยงกฎหมายตามกฎเกณฑ์ของ กกต. ส่วนหลังจากได้เป็น ส.ส. พรรคการเมือง สภาผู้แทนฯ เหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ เคยอื้อฉาวอย่างไร ก็อย่างนั้น แถมมีวาทกรรม “กล้วย” แลก “งูเห่า” เข้ามาอีก
ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ อาจถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่ต้องช่วยกันปฏิรูปการเมืองไทยทั้งระบบ เหมือนอย่างที่ “หมอวรงค์” เสนอ เพราะปัญหาทางการเมือง ที่เป็นอยู่ ยังคงก้าวไม่พ้นการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ของ เจ้าของพรรคบางพรรค กับคู่แข่งทางการเมือง ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นคู่ต่อสู้ และการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และพวกพ้อง จนประชาชนต้องออกมาประท้วงขับไล่ และในที่สุดก็สร้าง “เงื่อนไข” ให้กับการรัฐประหาร
ลองคิดดูให้ดี ปัญหาที่แท้จริงของการรัฐประหาร มาจากทหาร หรือว่า มาจากนักการเมือง ที่สร้างเงื่อนไขกันแน่? และถ้าจะหยุดวงจร “รัฐประหาร” ก็ง่ายนิดเดียว คือ หยุดสร้าง “เงื่อนไข” รัฐประหารเท่านั้นเอง