วันนี้ (8 ต.ค.) นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ส่วนหนึ่งที่โพสต์ระบุว่า เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบการเปิดกัญชาเสรีกับประชาชน ที่แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่ายังไม่มีงานวิจัย โดยระบุว่า
รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอและนำรายงาน ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน : บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565 เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประเด็นแต่มิติที่น่าสนใจคือกัญชาในฐานะไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่ยังอยู่ในฐานะเป็นสมุนไพรที่ส่งเสริมสุขภาพได้ด้วย
คำถามที่น่าจะพิจารณาต่อว่าหากกัญชาไม่ใช่มีแค่สรรพคุณ “รักษา” แต่มีสรรพคุณ “ส่งเสริมสุขภาพ” และลดความเสี่ยงโรคที่ประชาชนป่วยกันมากด้วยแล้ว ควรจะให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้กัญชาโดยไม่ต้องรอใบสั่งยาจากแพทย์หรือไม่?
ตัวอย่างเช่น “โรคเบาหวาน” !!!!
สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยประมาณการว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คนไทย ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน มี เพียง 1 ใน 3 คนที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 ราย/วัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Journal/ BMJ Open ในหมวดงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานและวิทยาต่อมไร้ท่อ เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2555พบเรื่องที่น่าสนใจว่าประชากรที่ยิ่งบริโภคกัญชากลับลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้
อย่างมีนัยสำคัญ
การสำรวจทางระบาดวิทยานี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการสำรวจกลุ่มประชากรผู้ใหญ่มากกว่า 10,896 คน พบว่าคนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น 2.4 เท่าตัว
โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเป็นเบาหวาน 8.7%, คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือนเป็น เบาหวานน้อยกว่าเหลือ 4.2%, และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไปยิ่งเป็นเบาหวานลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.2%
ตัวอย่างถัดมาคือบทบาทของกัญชาต่อการลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยถ้าการใช้กัญชาช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แล้วเราจะควรให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นหรือไม่?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Medicine ซึ่งยอมรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยเป็นการรวบรวมผลการศึกษาจากฐานข้อมูลของthe UK Biobank 500,000 คน เริ่มเก็บข้อมูล ปี พ.ศ.2549 ติดตามไปนาน ถึง 14 ปีและวิเคราะห์ผล ณ ปี พ.ศ.2563
โดยในจำนวนนี้ มีข้อมูลเรื่องการใช้กัญชา 151,945 ราย แบ่งเป็น ไม่เคยใช้กัญชา 118,496 ราย, เคยใช้ 33,449 ราย คิดเป็นเคยใช้ร้อยละ 28.2% โดยพิจารณาการใช้กัญชากับสถิติการเกิดโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะในประเทศอังกฤษ พบว่า คนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 4%, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 2% หรือต่างกัน 2 เท่า มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต 0.16%, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นเพียง 0.08% หรือต่างกัน 2 เท่า ในขณะที่บุหรี่และเหล้าได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปี พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ
โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งไซนัส มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งกรวยไต มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และการเลิกบุหรี่จะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเหล่านี้ด้วย
นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก ความน่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 57 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย
ยิ่งไปกว่านั้นด้วยกัญชาที่มีบทบาทมากขึ้น ยาที่มีความรุนแรงกดการหายใจอย่างเช่น มอร์ฟีน หรือยาที่ได้จากฝิ่นที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ลดลงไปด้วย
โดยกัญชาจะช่วยลดอัตราตายจากยาที่สกัดจากฝิ่น ตัวอย่างเช่น มอร์ฟีน มลรัฐโคโลราโด หลังจากแก้กฎหมายกัญชา ทำให้การสั่งยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ออกซี่โคโดน เมทาโดน มีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยลดลง 31.5% และการสั่งยาทสกัดจากฝิ่น ในภาพรวมของทั้งประเทศก็ลดลงเช่นกัน
มลรัฐที่แก้กฎหมายแล้ว มีอัตราตายจากยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน “น้อยกว่า” มลรัฐที่ไม่ได้แก้กฎหมาย ยิ่งนานไป ยิ่งมีอัตราตายจากยาทสกัดจากฝิ่น “ยิ่งน้อยกว่า” เฉลี่ย 24.8% นอกจากนั้นความเป็นจริงกัญชาอาจนำมาช่วยลดปัญหาบุหรี่และสุราที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพยิ่งกว่ากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้เลย โดยรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2557 ของแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย (BOD) พบว่า การเสียชีวิต จากบุหรี่ของประชากรไทย จำนวนการตายมีถึง 54,610 คน เป็นอันดับ 1 ของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทย โดยการสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุด คือ 20,863 คน (38% ของการการเสียชีวิตจากบุหรี่ทั้งหมด) ตามด้วยโรคหัวใจ 14,011 คน (26%) และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 13,964 คน (26%)
มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก การสูบบุหรี่ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 พบว่า การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจท้ังปี 74,884 ล้านบาท (คำนวณเป็นความสูญเสีย 42 บาท ต่อบุหรี่ 1 ซอง)
ในขณะที่ต้นทุนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน ประเทศไทยพ.ศ.2549 มีมูลค่า 156,105 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.99% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product ;GDP) หรือประมาณ 2,391 บาท ต่อคน ทั้งน้ีพบว่าต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดโดยคิดเป็นประมาณ 95.8% โดยต้นทุนที่มีมูลค่าสูงท่ีสุดได้แก่ ต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร (104,128 ล้านบาทคิดเป็น 65.7% ของต้นทุนทั้งหมด
โดยคนไทยติดสุราจำนวน 2.75 ล้านคน, เสียชีวิต 1 คน ทุก 10 นาที, ประชาชน 1 ใน 4 เคยถูกคุกคามทางเพศและทำร้ายร่างกายจากคนที่ดื่มสุรา, เกิดอุบัติเหตุ 20,000 รายต่อปี , 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด
แต่ปัญหาที่เกิดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสที่จะลดลงไปในสังคมไทยหากมีการใช้กัญชาเพื่อ “รักษาโรค” และ “ส่งเสริมสุขภาพ”มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่ากัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่าบุหรี่ โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อในปี พ.ศ. 2554 พบว่านับตั้งแต่สูบบุหรี่ครั้งแรกจะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่ 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้า 22.7%, และหากใช้กัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชา 8.9%[16]
ในทางตรงกันข้ามผลการศึกษาพบว่าการใช้กัญชานอกจากจะไม่ได้นำไปสู่การใช้สารเสพติดรุนแรงอื่นๆ แต่กลับทำให้เลิก หรือลดการใช้ยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆลงได้ด้วย การสำรวจที่ประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย 2,030 คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้แก่ สุรา 44.5%, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน 35.3%, บุหรี่ 31.1%, ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 26.6%
เมื่อกัญชาได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นย่อมส่งผลทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงซึ่งย่อมเท่ากับเป็นการลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของประชาชนในประเทศอันเนื่องมาจากการลดการบริโภคแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ด้วย
อย่างไรก็ตามกัญชานั้นไม่ได้มีแต่ผลดี แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน โดย รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทบทวนงานวิจัยแล้วสรุปว่า
“เมื่อมีจำนวนคนใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบางคนที่เกิดอาการแพ้กัญชา อาเจียนรุนแรง เมา ใจสั่น วิตกกังวล ง่วงนอน หลอน จนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล”
แต่จากสถิติของมลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งแก้กฎหมายให้ใช้กัญชาแบบนันทนาการได้ เมื่อปี พ.ศ.2557 กลับพบว่ามีคนไข้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากใช้กัญชาจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลง[17] เพราะประชาชนเกิด “การเรียนรู้” และ “เข็ด” ไม่ใช้เกินขนาด” รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จึงเห็นว่าการเข้าการรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นปรากฏการณ์ในช่วงแรกที่สังคมจะได้เรียนรู้และเข็ดจนลดระดับไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกเทียบกับผลดีต่อสังคมโดยรวมที่ประเทศจะได้ในเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ข้อมูลและการนำเสนอของ รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เป็นการพลิกความเชื่อเดิมๆของคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการถอดบทเรียนจากหลายประเทศที่มีการใช้กัญชามาแล้วนับสิบหรือหลายสิบปี จึงเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงเห็นว่าสมควรเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนผ่านบทความนี้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกและกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…
สภาผู้แทนราษฎร
6 ตุลาคม 2565
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=642156010611436&id=100044511276276&sfnsn=mo
อ้างอิง
รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน :บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565