รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลสนับสนุน จูงใจเอกชนดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากร ให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี นำหลักฐานมาหักภาษี ได้ 2.5 เท่า
วันนี้ (6 ต.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดแรงงานในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ มีรายได้ดี สร้างสังคมอีอีซี” โดยมีคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) เป็นกลไกลสำคัญที่ทำหน้าที่ประสานและบูรณาการการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี อย่างใกล้ชิด และมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งร่วมผลักดันให้เกิดศูนย์เครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 14 ศูนย์
โดยมีแนวทางการพัฒนาบุคลากร 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การผลิตบุคลากรพร้อมใช้ เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนร้อยละ 100 และรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ พร้อมทั้งรับเข้าทำงานด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่ามาตรฐาน (EEC Model Type A) ปัจจุบันได้ดำเนินไปแล้ว จำนวน 8,080 คน และ (2) การผลิตบุคลากรในระยะเร่งด่วน ด้วยการฝึกอบรมระยะสั้น Short Course เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมร้อยละ 50 และรัฐร้อยละ 50 (EEC Model Type B) ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว จำนวน 7,927 คน และมีหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมระยะสั้น ที่สถานศึกษาจัดทำร่วมกับภาคเอกชนกว่า 100 แห่ง และผ่านการรับรองจากคณะทำงานพิจารณารับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง จำนวน 169 หลักสูตร จากเป้าหมาย 200 หลักสูตร ในปี 2566 และภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมสามารถนำหลักฐานไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคล 2.5 เท่า เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
นางสาวรัชดา กล่าวว่า โครงการการพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งเป้าเพื่อจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้วยหลักสูตรระยะสั้น ที่ต้องการยกระดับทักษะของบุคลากร หรือนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้ออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต