xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๊น” ชงโมเดลทางออกประเทศไทย 4.0 ดันวาระแห่งชาติ “ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองเลขาฯ ปชป. ชงโมเดลทางออกประเทศไทย 4.0 ผลักดันวาระแห่งชาติ “ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง” ปลดแอกจากประเทศกำลังพัฒนา

วันนี้ (5 ต.ค.) น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง ขณะนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน หรือแม้แต่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ คนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปลดแอกจากประเทศกำลังพัฒนาได้ เพราะเรายังมีคนยากจน คนชายขอบ คนที่ถูกกดขี่และคนที่ไร้โอกาสทางสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก และเราก็พูดถึงคนเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนและจะบอกว่าเราจะทำอะไรเพื่อพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรมได้บ้าง” นางสาวจิตภัสร์ กล่าวและว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ได้ผลักให้คนธรรมดาๆ ต้องกลายเป็นคนชายขอบ คนชั้นกลางถูกลดระดับลงเป็นคนระดับล่างที่รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว และยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเปราะบาง ก็ยิ่งถูกผลักให้เป็นคนจนซ้ำซาก คนจนข้ามพื้นที่ คนจนเมือง คนจนข้ามรุ่น ที่ไม่มีโอกาสที่จะยกระดับแม้แต่คุณภาพชีวิตของตนเอง

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 ไม่ใช่ 0.4 คือ การผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง และสร้างโอกาสให้คนเหล่านี้ในทุกมิติเป็นวาระแห่งชาติ สร้างศักยภาพให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่ในระบบโรงเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ในบริบทการใช้ชีวิตของพวกเขา

“จากการได้ลงพื้นที่ การไปทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศ ทำให้มองเห็นว่าถ้าเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ มีความยากลำบากในการเดินทาง เราก็ต้องส่งครูไปหาเขา ไปสอน ไปเป็นโค้ชให้เขามีความรู้ มีทักษะการใช้ชีวิต นำโอกาสไปให้เขาไม่ใช่ให้เขานั่งรอโอกาส หรือถ้าคนป่วย ไปโรงพยาบาลลำบาก ก็ต้องมีหมอ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปดูแล คนสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เราเข้าสู่ยุคโมบาย ยูนิต ยุคดิจิตัลมานานแล้ว ก็ต้องเอามนุษย์เป็นโมบายไปดูแลคนที่เขาไม่สามารถเคลื่อนไหวตนเองเพื่อเข้าถึงโอกาส นำโอกาสไปมอบให้เขา”

น.ส.จิตภัสร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้พิการ กับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล จึงมองว่าปัญหาของกลุ่มคนเปราะบาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กลไกทางการเมือง ควบคู่ไปกับกลไกของรัฐ เข้าไปจัดการแก้ไขอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน จะได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้พรรคพิจารณาผลักดันเป็นนโยบายของพรรค เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และถือเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนกลุ่มเปราะบางได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น