“ดร.แสงเทียน” ชี้ “ศาล น่าเชื่อถือมากที่สุดเสมอในไตรอำนาจอธิปไตยสยาม” ซัด มีการตั้งธง 8 ปี “บิ๊กตู่” เอาไว้แล้ว จึงไม่พอใจคำตัดสิน “อัษฎางค์” ขออธิบายคำวินิจฉัยศาล รธน.แบบภาษาชาวบ้าน ไล่เรียง “แจ้งชัด”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 ต.ค. 65) เว็บไซต์ทิศทางไทย โพสต์ประเด็น รศ.ดร.แสงเทียน ออกแถลงฯ “ศาลน่าเชื่อถือมากที่สุดเสมอในไตรอำนาจอธิปไตยสยาม” โดย เมลอน
เนื้อหาระบุว่า ศาลน่าเชื่อถือมากที่สุดเสมอในไตรอำนาจอธิปไตยสยาม รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย (๓ ตุลาคม ๒๕๖๕)
จากกรณี คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ถึงความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก จำนวน ๖ ต่อ ๓ วินิจฉัยว่า
นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยนับแต่วันที่ ๖ เม.ย. ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๔ ส.ค. ๒๕๖๕ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
ทำให้หลายฝ่ายออกมาให้ความคิดเห็นไปหลากหลายประเด็น การไม่เห็นด้วยมีเกิดขึ้นหลากรูปแบบ หลากผู้คน ที่ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างในสภาและนอกสภา การชุมนุมกดดันศาลไม่ได้เกินความคาดหมายใดของผู้คนเช่นกัน หรือมีเหตุเพราะมีการตั้งธงไว้ก่อนคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรืออาจอยู่ฝ่ายตรงข้ามที่งัดมาทุกวิธีการในการคัดค้านการทำงานของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกันมาอย่างชัดเจนว่า
ต้องเป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” เกิดขึ้นอีก นี่คือ วาระซ่อนเร้น (Hidden agenda) ของผู้ที่ยื่นมาตั้งแต่แรกหรือไม่ หรือมีการผนึกกำลังในหลากหลายฝ่ายทำเรื่องนี้กันหรือไม่
ลองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นดูเถิด การกระทำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ เป็นการก้าวเดินในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายหรือไม่
- การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมตั้งธงคำตัดสินว่าต้องเป็นอย่างไร หรือไม่ โดยการให้สัมภาษณ์ให้ข้อคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องว่าจะต้องเป็นอย่างไร
- การให้ข่าวสารไม่เว้นแต่ละวันเพื่อให้คนเชื่อว่าเป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดไว้ มีหลักการทางกฎหมายที่ดีเพื่อสอดรับกับแนวคิดจากที่ตั้งธงไว้ล่วงหน้าก่อนการตัดสินของศาล
- ช่องทางข่าวสารของกลุ่มเห็นต่างรัฐบาลหรือช่องทางที่เคยโจมตีนายกรัฐมนตรีก็นำเสนอไปในทิศทางตามที่วางไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องหลุดจากตำแหน่ง ซ้ำไปซ้ำมา จนน่าแปลกใจ
- การชุมนุมรวมตัวกดดันศาล ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกินความคาดหมายใดของผู้คนในสังคมเช่นกัน การแสดงท่าทางของกลุ่มผู้ประท้วงที่แสดงความไม่พอใจด้วยการโห่ร้องทันที ที่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาว่านายกรัฐมนตรียังดำรงตำแหน่งไม่ครบ ๘ ปี ก่อนจะอ่านแถลงการณ์คัดค้านคำวินิจฉัย ระบุว่า จะเดินหน้าขับไล่นายกรัฐมนตรีต่อ เพราะมองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมาแล้ว ตามที่ตั้งธงไว้…ใช่หรือไม่
คำที่ถูกนำมาใช้อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นอีกหลากหลายคำหลายวลี แต่วัตถุประสงค์ยงคงเดิมๆ ของวาทกรรมเลือกข้าง
“การใช้อำนาจของรัฐบาลในปัจจุบันไม่ชอบด้วยกฎหมาย” “ไว้อาลัยให้กับระบอบการเมืองไทย” “อภินิหารทางกฎหมาย” “นายกรัฐมนตรีได้เปรียบทางกฎหมาย” “สองมาตรฐานของการตัดสินต่อรัฐบาลและฝ่ายค้าน” … ฯลฯ …
ย้อนกลับไปดู ว่าอะไรเกิดกับอำนาจสำคัญอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจตุลาการ ที่ถูกกระทำมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา
- ชุมนุมปราศรัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหลังให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากคดีพักบ้านหลวง (๒ ธันวาคม ๒๕๖๓)
- ศาลรัฐธรรมนูญถูกแฮกโจมตีเว็บไซต์เจาะระบบ ฝังเพลงฮิปฮอป ว่า Kangaroo Court หรือศาลเตี้ย หลังวันอ่านคำวินิจฉัยคดีม็อบสามนิ้วล้มล้างการปกครอง (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔)
- โพสต์กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นสารตั้งต้นของการล้มล้างการปกครอง (๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔)
- ฯลฯ
ไม่ได้แปลกใจอะไรหรอก ถ้าจะกล่าวหาอีกเพราะได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าให้เทียบกันระหว่างอำนาจศาล กับอำนาจอีก ๒ ขั้ว ของการต่อสู้ทางการเมืองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ซึ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจที่ประเทศสยามยังไม่เคยแยกจากกันได้จริงเลยสักครั้ง ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ต่อสู้กันทุกวิถีทาง แก่งแย่งแข่งขันจนคนใจซื่อมือสะอาดทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนแทบจะหาที่ยืนใน ๒ อำนาจนี้ไม่ได้ ความน่าเชื่อถือในอำนาจของสยามประเทศที่ยังคงน่าชื่อถือมากที่สุดจึงยังคงเป็นอำนาจตุลาการ ที่ทุกคนในประเทศนี้ต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้ถูกกระทำย่ำยีแม้แต่น้อยนิดด้วยชีวิตและวิญญาณของคนในสยามประเทศทุกคนต่อไป…
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความระบุว่า
“นายกฯ 8 ปี”
ตอนที่ 1 ขออธิบายเรื่องนายกฯ 8 ปี ด้วยภาษาชาวบ้าน ภายใน 8 ข้อ
• 1 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 โดยได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามคำแนะนำของ คสช.
“อันหมายความว่า คสช.คือ ผู้ที่เลือกนายกรัฐมนตรี” ถวายให้ในหลวงแต่งตั้ง (ขอย้ำว่า ในหลวงไม่ได้มีพระราชอำนาจในการที่จะเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือใครเป็นนายกรัฐมนตรี)
ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช.นั้น ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 8 ปี
• 2 รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีมาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
“อันหมายความว่า สภาผู้แทนราษฎร คือ ผู้ที่เลือกนายกรัฐมนตรี ถวายให้ในหลวงแต่งตั้ง” (ขอย้ำว่า ในหลวงไม่ได้มีพระราชอำนาจในการที่จะเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือใครเป็นนายกรัฐมนตรี)
• 3 ทั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ได้บังคับให้คณะรัฐมนตรีของ คสช.ชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถูกบังคับตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติ ที่บังคับให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 8 ปี
• 4 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับไม่ให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีนั้นไม่ได้บัญญัติให้มีผลย้อนหลังได้ ซึ่งหมายความว่า “กฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่มีมีผลย้อนหลังต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนปี 2560 ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช.”
• 5 จะเห็นได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ช่วง
โดยช่วงแรก เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ที่ไม่มีข้อบังคับเรื่องระยะเวลา 8 ปี
และช่วงที่ 2 เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยผ่านมติสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่มีข้อบังคับเรื่องระยะเวลา 8 ปี
• 6 ด้วยเหตุนี้ ต้องนับว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงนายกรัฐมนตรีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
• 7 เมื่อนับถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบ 8 ปี
• 8 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะครบกำหนดการในวันที่ 6 เม.ย. 2568
.................................................
แน่นอน, ประเด็นสำคัญคือ การเมืองไทยในเวลานี้ กำลังติดหล่ม “เกมการเมือง” ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ “ล้มล้าง” เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ
ดังนั้น ไม่แปลกที่ “ปม 8 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ จะจบไม่ลง ถูกจุดประเด็นเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และเกิดการผสมโรงทางการเมือง โหนกระแส หาประโยชน์ทางการเมืองเต็มไปหมด หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ คือ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯไม่ครบ 8 ปี
ยิ่งกว่านั้น “เกมการเมือง” ดังกล่าว ยังมีหลาย “เพดาน” นับแต่ เพดานแรก ขับไล่ “บิ๊กตู่” พร้อมองคาพยพ คสช. ออกจากตำแหน่ง เพดานที่สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพดานที่สาม ปฏิรูปสถาบันฯ และเพดานที่สี่ เปลี่ยนแปลงประเทศ
ที่เห็นและเป็นอยู่ จึงเป็นการต่อสู้เพื่อ “ทะลุ” เพดานแรกให้ได้ และได้พยายามมาก่อนหน้านี้แล้ว
จริงอยู่, มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของ “บิ๊กตู่” เพราะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และต้องการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ก็เป็น “กระแสเฉพาะหน้า” เท่านั้น
สิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นความลับแต่อย่างใด เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า จะเป็นไปได้ จึงไม่ได้สนใจเท่านั้นเอง