พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ ย้ำชัดคำวินิจฉัยศาล รธน.ไม่ได้ช่วยฟอกขาว “ประยุทธ์” ลั่นถึงเวลาปฏิรูปศาล ปลุก ปชช.ให้บทเรียนผ่านเลือกตั้งครั้งหน้า จ่อยื่นซักฟอก ม.152 หลังเปิดสภา
วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา อ่านแถลงการณ์ว่า 1. การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าได้มีการพิจารณาถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาได้ เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้เลยว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 57 เป็นต้นไปเท่านั้น
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า 2. การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 60 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี ซึ่งเกินกว่า 4 ปี และเกินกว่า 2 วาระปกติของการดำรงตำแหน่งนายกฯ อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ มิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของประชาชน และขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 57 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ จะมีผลแปลกประหลาดคือ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ในวันที่ 6 เม.ย. 60 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปีก่อนวันที่ 6 เม.ย. 60 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เม.ย. 60 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ ฉบับเดียวกัน
“อนึ่ง ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2557 แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ จากความเห็นชอบของสภา ตามมาตรา 158 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภา ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ กรณีนี้จึงถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย อ่านต่อว่า 3. เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้ง ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ในตำแหน่งเป็น 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยัง ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย ถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ 4. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่การวินิจฉัยที่ส่อว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม และเกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้
ด้าน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อ่านว่า 5. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้
ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยประการใดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกฯ คือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับพล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพของพล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้นั้น บทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลต่อไป โดยช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา และจะเปิดประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. และปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ. ถ้ามีการเปิดสมัยประชุมเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินให้เข้มข้นอย่างที่สุด ช่วงที่ปิดสมัยประชุม ก็จะมีกรรมาธิการที่ทำหน้าที่อยู่ หากมีอะไรที่จำเป็นจะต้องใช้บทบาทของกรรมาธิการ ฝ่ายค้านจะเสนอผ่านกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นกลไกของสภา
ส่วนการให้ข้อเสนอแนะหรือให้ข้อท้วงติงต่างๆ นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านมีวาระการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เราจะนำประเด็นต่างๆ มาปรึกษาหารือกัน เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลในสิ่งที่เราเห็นว่าประชาชนจะได้รับความเสียหายหรือเป็นพิษภัย ไม่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง เราจะใช้กลไกที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สำคัญเราเตรียมเสนอญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อเปิดสมัยประชุม ก็จะยื่นต่อประธานสภาเพื่อขอเสนอญัตติดังกล่าวทันที
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ เราเป็นห่วงประเทศชาติบ้านเมืองเพราะสิ่งที่เราให้เหตุผลในคำร้องของเรา โดยเฉพาะเรื่องการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้สถานการณ์เหมือนพายุโนรูเข้าประเทศไทย แต่ประเทศเราไร้ทางออกเช่นกันแต่เป็นโนรูล (rule) ซึ่งเป็นข้อที่เราห่วงใหญ่มาก อยากให้ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังข้อเสนอของพี่น้องประชาชนภายใต้ความสงบเรียบร้อย โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเรียกร้องชุมนุม ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกตามข้อเสนอของเขา ต้องให้สิทธิเสรีภาพที่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องไม่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ควรสละตำแหน่งเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ทุกอย่างก็จบ