xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” แอกทีฟ เข้ามหาดไทย ถกแก้ปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศ ย้ำทุกหน่วยต้องบูรณาการงาน อย่าขัดแย้ง สั่งห้ามขึ้นป้ายต้อนรับนายกฯ ลงพื้นที่อีสานพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” แอกทีฟ เข้ากระทรวงมหาดไทย นั่งหัวโต๊ะถกแก้ปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศ ย้ำ ทุกหน่วยต้องบูรณาการงาน อย่าขัดแย้ง ยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ สั่งห้ามขึ้นป้ายต้อนรับนายกฯลงพื้นที่อีสานพรุ่งนี้ ไม่คิดสร้างภาระให้ใคร บอกพยายามทยอยไปเยี่ยมทุก จว. เพราะทุกคนคือคนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันนี้ (3 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.40 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวรายงานสถานการณ์เบื้องต้น ว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ พร้อมแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรายงานให้นายกฯรับทราบ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบคุณ รมว.มหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเห็นว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ได้มีการสรุปสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และทราบว่าสถานการณ์ยังมีผลกระทบอยู่มาก และถือว่ามากพอสมควรในขณะนี้ ซึ่งทุกคนได้ทำอย่างเต็มที่แล้วทั้งกลุ่มพยากรณ์ กลุ่มการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ภายใต้การบูรณาการของศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ โดยมี รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ทั้งนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนทั่วประเทศทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกหน้าที่ ทุกอาชีพ ซึ่งรัฐบาลทราบกันดีอยู่แล้วในความเดือดร้อน และรัฐบาล ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตนห่วงทั้งประเทศ ไม่ได้ห่วงเฉพาะภาคอีสานอย่างเดียว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ที่ประสบภัยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกันในนามของรัฐบาล ฉะนั้น วันนี้ จะเป็นการรับทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ในระยะเวลาต่อไปด้วย รวมถึงการบริหารจัดการ การคาดการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่รัฐบาลจะได้เตรียมแผนและเตรียมความพร้อมในเรื่องการดูแลเยียวยา และการสนับสนุนเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ทำงานอย่างสบายใจ พร้อมกับให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

ต่อมาเข้าสู่ช่วงการรายงานข้อมูลและสรุปสถานการณ์ต่างๆ โดย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และ น.ส.ชมภารี ชมพูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้สอบถามในที่ประชุมว่ามีหน่วยงานใดประสบปัญหาอะไรบ้าง พร้อมกล่าวว่า ขอขอบคุณที่กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงถึงสถานการณ์พายุโนรูที่เข้าประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ มีฝนตก ทั้งนี้เราอยากบอกกับประชาชนทุกคนว่ารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในการดูแล ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศก็ไม่ได้ดีกว่าเรามากนัก อย่างไรก็ตาม ปัญหาของบ้านเรา มีความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่เขตเมือง ถนน และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ต้องรับการแก้ไขปัญหาและป้องกันไปพร้อมๆ กัน และจากที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าจะมีพายุโซนร้อนเข้ามาอีก ซึ่งอาจทำให้มีฝนตกเพิ่ม และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมมากขึ้น ตนจึงขอฝากให้ทุกจังหวัดเข้าไปดูแล วันนี้ทุกภาคส่วนทั้งส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น พลเรือน ตำรวจ ทหาร จะต้องร่วมกันเตรียมการรับมือ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอบคุณกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันขอให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการกัน และเตรียมการไว้ล่วงหน้ารับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีทั้งมาตรการหลัก มาตรการเสริมและการระบายน้ำ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้อาจจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ไล่ลงไปภาคใต้ของไทย แต่ความเสียหายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้รู้สึกน้อยกว่าที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตร แม้สำหรับเกษตรกรอาจเป็นข่าวดี แต่เราต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของตลาดข้าว ขณะนี้เรามีโอกาสมากที่จะส่งข้าวออกได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศเก็บสำรองข้าวไว้เยอะ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะต้องให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีปริมาณข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศ และการส่งออกได้มากขึ้น และเราอาจเป็นผู้นำการส่งออกในปีนี้ก็ได้

“นี่ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวไร่ชาวนาของเรา ข้อมูลทั้งหมดที่สรุปมาอยากให้เป็นชุดเดียวกัน มาตรการที่แต่ละหน่วยงานรับไปจะต้องวางแผนงานให้ดี ต้องมีสมมติฐาน 1-2-3 ถ้าเกิดแบบนี้หรือแบบนั้นเราจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม ฝากข้อมูลและการทำงานของทุกหน่วยงาน รัฐบาลจะได้เตรียมสนับสนุนและส่งเสริมช่วยเหลือเยียวยาอะไรก็แล้วแต่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องคิดกันต่อ รัฐบาลไม่ได้นิ่งน้อยใจตรงนี้” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงกลาโหม ช่วงที่ตนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ก็ให้ช่วยเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระ ทั้งนี้ ตนพยายามอย่างเต็มที่ และถือเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังผู้ว่าฯขอนแก่น และอุบลราชธานี รายงานสถานการณ์ในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทันที ว่า พรุ่งนี้ (4 ต.ค) ตนจะลงพื้นที่จ.ขอนแก่นและอุบลราชธานี เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจ ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้าย ไม่เอา เข้าใจใช่ไหม เพราะตนจะไปทำงาน และไม่สร้างภาระให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ต้องเรื่องมากกับตน เพราะตนสมบูรณ์แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอให้ไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า ตนไม่เป็นภาระกับใคร

นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรับฟังรายงานจาก น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า ในส่วนของ กทม. ตนติดตามสถานการณ์มาตลอด ขณะเดียวกัน มีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำ ทั้งปริมาณน้ำสะสมและเรื่องน้ำที่จะต้องระบายออก ทั้งนี้เราต้องให้กำลังซึ่งกันและกัน หากมีอะไร ก็ขอให้แต่ละหน่วยงานประสานงานกัน อย่าขัดแย้งกัน ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด จะดีก็ดีด้วยกัน ไม่ดีก็ไม่ดีด้วยกัน

จากนั้น ในช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาประชุมร่วมกันทุกคนทำตามแนวทางปฏิบัติที่ดีอยู่แล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการคาดการณ์ในระยะต่อไป ช่วงที่ผ่านมา เราเจอปัญหาฝนตกหนักเกินปริมาณที่เคยเจอมาก่อนในบางพื้นที่ ฉะนั้น แน่นอนต้องเกิดปัญหากับประชาชนโดยรวม วันนี้ ตนมาเพื่อรับฟังและรับทราบแนวทางการแก้ปัญหา และพร้อมที่จะนำไปสู่รัฐบาลเพื่อรับงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาต่อไป วันนี้มาให้กำลังใจและมอบความห่วงใย ขอบคุณข้าราชการทุกคนที่ทำงานอย่างเสียสละในฐานะผู้ที่อยู่หน้างาน สำหรับสิ่งที่ตนพูดวันนี้คือการเตรียมการและแผนงานไว้ล่วงหน้า พร้อมกับการแก้ปัญหาที่มีในปัจจุบันไปพร้อมๆกัน ปัญหาวันนี้ที่มีอยู่คือการดูแลว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสถานการณ์คาดการณ์ หลักการคือการพร่องน้ำ ระบายน้ำ กักเก็บน้ำในพื้นที่ และที่สำคัญ ต้องไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้าไม่จำเป็น เราไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว ซึ่งในสมัยก่อน ลุ่มเจ้าพระยาถือเป็นบทเรียนของเรา สิ่งสำคัญคือ การเน้นการระบายน้ำในตะวันตกและตะวันออกให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง มีแม่น้ำลำคลองเยอะ ตอนนี้ล้นตลิ่งเกือบทุกคลอง และในอนาคตอาจจะต้องมีการวางแผนเพิ่มเติม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งทุกคนยืนยันว่ายังปลอดภัยใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เคยมีปัญหารูรั่วนิดเดียวแล้วแก้ไขไม่ทัน เกิดพังทลาย ดังนั้น ตรงนี้ต้องเตรียมด้วย ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้าไปดูแลให้เกิดความแข็งแรงตามแผนการป้องกัน ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือกันด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้เขียนร่างนโยบายที่จะสั่งการมาแล้ว ทั้งเรื่องพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมตามแผนงาน เรื่องการก่อสร้างถนนต่างๆ ต้องมีจุดระบายน้ำ รวมถึงเส้นทางจราจรต่างๆ ต้องเฝ้าระวัง และมีการปักแนวให้เห็นว่าถนนอยู่จุดไหนเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเวลาที่มีน้ำท่วมขังถนน พร้อมกันนี้ต้องเร่งสำรวจเพื่อเร่งเยียวยา ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีระยะเวลาผลกระทบไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลจะเร่งเยียวยาและพร้อมสนับสนุนงบประมาณไว้ให้ ถ้าทำเร็ว ก็ได้ช่วยเหลือเร็ว ถ้ารัฐบาลจะช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติม ก็จะพิจารณาต่อไป ส่วนกรณีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังก็ขอให้ช่วยกัน เราต้องทำงานไปด้วยกัน รัฐ ประชาชน ธุรกิจ เอกชน จิตอาสาทั้งหมด นั่นคือ คนไทยด้วยกัน จะต้องช่วยกัน ข้าราชการจะเป็นหลัก ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครฝ่ายพลเรือน จิตอาสา ซึ่งตนจำได้ว่าสมัยก่อนเมื่อปี 2554 เคยมีการขอความร่วมมือจากสมาคมรถบรรทุกต่างๆ ให้มาช่วยเหลือในการขนคนเดินทาง ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือ รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ตรงนี้ต้องประสานกัน ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ส่วนปกครองท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน จะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของ กทม.ก็มีประชาสัมพันธ์อยู่แล้วทุกอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ต้องประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์อพยพ จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ต้องมีอาหารน้ำสำหรับคนและสัตว์ ทั้งนี้ ตนดูข่าวจากโทรทัศน์ พบว่าบางพื้นที่น้ำท่วมครึ่งเอว แต่ประชาเชนยังไม่ออกมา แต่ก็โทษเขาไม่ได้ เพราะบางที เขาห่วงสมบัติ การขนย้ายสิ่งของมีความลำบาก อย่างไรก็ตามก็ต้องให้กำลังใจผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ซึ่งพวกท่านเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง และถือเป็นระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งนี้ ตนก็จะเดินทางไปดูแลช่วยเหลือและเยียวยาต่างๆ ให้มากที่สุดในส่วนของรัฐบาล ขณะที่ท้องถิ่น อบต. อบจ. คนในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนคือคนไทย เราต้องช่วยกันดูแล

“ผมเองก็ไม่รู้จะสั่งอะไร เพราะทั้งหมดอยู่ในแผนปฏิบัติของเราอยู่แล้ว นายกฯแค่มาย้ำหน่อย ให้กำลังใจ ฝากถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ประชาชนทุกจังหวัด ผมทำหน้าที่ของผม หน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่ของข้าราชการที่ดีของพวกเราทุกคน ขอบคุณทุกคน และขอให้ทุกคนปลอดภัย ผมพยายามจะทยอยไปเยี่ยม ไม่ทิ้งใคร เพราะพวกเราคือคนไทยด้วยกันทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีกระฉับกระเฉงและยิ้มแย้มตลอดการประชุม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานสถานการณ์อย่างเต็มที่ พร้อมกับให้มีการสอบถามในข้อสงสัยต่างๆ ด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น