xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป๊อก” หนีฝนถล่ม-น้ำท่วมอุบลฯ/ขอนแก่น บินลงพิษณุโลกคอนเฟอเรนซ์สั่งผู้ว่าฯ อีสานรับมือ “โนรู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - "บิ๊กป๊อก" ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินหนีฝนหนักจากอุบลฯ-ขอนแก่น ลงพิษณุโลกแทน ก่อนวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลากลางเมืองสองแควสั่งผู้ว่าฯ ภาคอีสานเตรียมรับมือพายุโนรู ทั้งเปิดศูนย์พักพิง-ตั้งโรงครัว ตอนนี้ยังพอเบาใจ แต่ไม่รู้ว่าจะมาหนักแค่ไหน


วันนี้ (28 ก.ย. 65) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมคณะ ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินในการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมรับมือพายุโนรู

จากเดิมกำหนดบินลงที่ จ.อุบลราชธานี และขอนแก่น แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงเปลี่ยนเส้นทางบินลงพิษณุโลก ก่อนใช้วิธีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลากลางพิษณุโลกไปยังอุบลราชธานี และจังหวัดต่างๆ ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจากพายุโนรู ที่กำลังอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน ความเร็ว 20 กม.ต่อ ชม. ซึ่งจะเข้าไทยตั้งแต่คืนนี้ (28 ก.ย.-1 ต.ค. 65)

โดยกำชับทุกจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการ เปิดที่พักพิง ให้มีอาหาร ที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ย้ำให้ท้องถิ่นประเมินสถานการณ์ สั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเตรียมตัดไฟ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานีได้รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า อุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร 14 อำเภอ 74 ตำบล 472 หมู่บ้าน และมี 4 อำเภอได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งได้อพยพประชาชน 44 ชุมชน 1,215 ครัวเรือน 4,169 คน ไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว 40 จุด บางส่วนได้ไปพักบ้านญาติ และอพยพขึ้นที่สูง ด้านการเกษตร ได้รับความเสียหาย 14 อำเภอ กว่า 99,235.75 ไร่

ต่อมา นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก บรรยายสรุปจากสถานการณ์น้ำของจังหวัดพิษณุโลก และการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมรับมือพายุดีเปรสชัน "โนรู" ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วม อ.ชาติตระการ อ.นครไทย คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียง อ.วังทอง และ อ.บางระกำ ซึ่งมี "บางระกำโมเดล" รองรับน้ำถึง 400 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดรับน้ำไว้แล้ว 250 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือพื้นที่บริหารจัดการน้ำอีก รวมทั้งได้สั่งจัดทำแผนรับมือไว้แล้ว เช่น การแจ้งเตือนต่างๆ หอกระจายข่าว ทางไลน์กลุ่ม ฯลฯ เตรียมพร้อมคนและยานพาหนะ พร้อมประสานหน่วยทหารในที่ตั้งเฝ้าประจำแล้ว กรณีไฟฟ้า สั่งให้ กฟภ.ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงแล้ว


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำด้วยว่า ให้ผู้ว่าฯ สั่งตั้งโรงครัวในศูนย์พักพิง ให้จัดหาถุงยังชีพได้เลย ดำเนินการใช้งบได้ทันที สรุปให้เน้นดูแลเรื่องดำรงชีพของประชาชนทุกด้าน เช่น น้ำ อาหาร และเส้นทางสัญจร จะต้องประสานขอใช้รถยกสูง, เรือ, สะพานเร่งด่วน จาก ปภ.หรือทหารได้ อย่างไรก็ตาม ประเมินการเตรียมพร้อมจากหลายหน่วยงานในภาพรวมแล้ว ถึงขณะนี้เบาใจได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะหนักกว่าที่ประเมินกันไว้แค่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ มท.1 และคณะ มีกำหนดลงพื้นที่อำเภอวังทองตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 จุด คือ วัดบึงพร้าว ม.3 ต.ชัยนาม เพื่อพบปะประชาชนและมอบสิ่งของแก่ผู้ประสบภัย 50 ชุด และจุดที่ 2 วัดวังพรม ม.7 ต.วังทอง ซึ่งจะมีการมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจากน้ำพัดจมหายด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น