xs
xsm
sm
md
lg

ห้าวไม่หยุด? “ปิยบุตร” ปลุก ปชช. จี้ “รัฐสภา” เลิก ม.112 “แรมโบ้” ตะเพิดส่ง คิดแต่เรื่องเดียว “กวิ้น” แห้ว ถอด EM

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
ปรับยุทธวิธี! “ปิยบุตร” จุดประเด็นยกเลิก ม.112 โดย “รัฐสภา” ดีที่สุด แนะ ส.ส. พรรคการเมืองไม่ต้องกลัว ปชช.จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก “แรมโบ้” จวก คิดเรื่องเดียว ตะเพิดส่ง ศาลยกคำร้องถอดกำไร EM “กวิ้น”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ผู้ที่หยุดการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ คือ นักการเมือง

“กฎหมาย” สัมพันธ์กับ “การเมือง”

“การเมือง” เป็นอย่างไร ก็สะท้อนการใช้ “กฎหมาย” อย่างนั้น

“กฎหมาย” เป็นเพียงตัวอักษรเปื้อนหมึกบนกระดาษ จะมีพลังได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์กรผู้มีอำนาจตามระบบกฎหมายนำบทบัญญัติกฎหมายมาตราต่างๆ ไปใช้และตีความ

กฎหมายที่เลวร้ายที่สุด อยุติธรรมที่สุด หากไม่ถูกนำมาใช้เลย ไม่มีองค์กรเจ้าหน้าที่ใดนำมาใช้ให้เป็นผลร้ายแก่ประชาชนเลย ต่อให้กฎหมายนั้นยังไม่ถูกยกเลิก ก็เสมือนกับเป็นกฎหมายที่ตายไปแล้ว

ตรงกันข้าม กฎหมายเขียนให้รัดกุมอย่างไร คุ้มครองสิทธิอย่างไร หากมีองค์กรเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรม ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เลวร้าย ไร้ซึ่งยุติธรรมและมนุษยธรรม กฎหมายเหล่านั้นก็อาจแปลงร่างกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ผู้คน

กฎหมายจึงมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวเอกเทศ แต่สัมพันธ์กับระบบอำนาจ

ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นตัวชี้ขาดกำหนดกฎหมาย ทั้งการตรากฎหมายเป็นตัวอักษร ทั้งการนำตัวอักษรเหล่านั้นไปใช้และตีความ

ในระบบแห่งอำนาจทางกฎหมาย ประกอบไปด้วยบรรดาองค์กรของรัฐทั้งหลายที่เป็นผู้สร้าง ใช้ และประกันให้มีสภาพบังคับ ตั้งแต่ รัฐสภา รัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ราชทัณฑ์

หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ไม่นำ 112 มาใช้อย่างบิดเบือน

112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย

หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่ศาลนำ 112 มาตัดสินคดีโดยไม่ขยายความเกินกว่าตัวบท มุ่งหมายคุ้มครองสิทธิของประชาชน

112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย

ตรงกันข้าม

หากมาตรา 112 คงอยู่ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายนำมาใช้อย่างขยายความ เกินขอบเขต ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน

112 ก็แผลงฤทธิ์ได้มาก

และในบางกรณี อาจแผลงฤทธิ์ได้มากจนเกินกว่าตัวอักษรในมาตรา 112 ก็มี ตีความคำว่า “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” จนผิดเพี้ยนไปหมด

การยุติหรือบรรเทาการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ จำเป็นต้องใช้ “อำนาจหยุดยั้งอำนาจ” ก็ในเมื่อองค์กรของรัฐหนึ่ง (พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล) ใช้อำนาจตามแดนของตนเองขยาย 112 ออกไปเช่นนี้ ก็ต้องมีองค์กรของรัฐอีกหนึ่ง (รัฐสภา) ใช้อำนาจตอบโต้กลับไป

เมื่ออำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อ้างว่า ตนใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112

หากต้องการหยุดการใช้ 112 ของพวกเขา ก็ต้องให้อำนาจนิติบัญญัติ ตรากฎหมายยกเลิกมาตรา 112 หรือตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดี 112 นั้นเสีย

นี่คือ การตอบโต้กันระหว่างอำนาจในระบบ เป็นเรื่องปกติของหลักการแบ่งแยกอำนาจ

ภาพ ยกเลิกม.112 ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กของนายปิยบุตร แสงกนกกุล
การยุติ 112 ได้ จึงไม่อาจอาศัยการรณรงค์เรียกร้อง การชุมนุม การเข้าชื่อ การยื่นหนังสือร้องเรียน ได้แต่เพียงอย่างเดียว

ผู้ที่จะทำให้ 112 ยุติได้อย่างแท้จริง บังเกิดผลในทางกฎหมาย ก็คือ รัฐสภา

ภายใต้สถานการณ์การใช้ 112 ผิดเพี้ยนกันอย่างกว้างขวางเช่นนี้ บรรดานักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง จึงต้องรับภารกิจเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ดำเนินการตรากฎหมายยกเลิก 112

การแก้ไขกฎหมายแบบ “เลาะตะเข็บ ชายขอบ” เฉพาะแค่สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว ไม่ยอมพูดถึง 112 โดยตรง คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่แก้ไขปัญหา เป็นเพียงการเล่นละครตบตา เพื่อโฆษณาให้รู้ว่า “ฉันก็ทำนะ” แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำ

เช่นกัน… การแก้ไข 112 แต่เพียงเล็กน้อย คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่เพียงพอ ในท้ายที่สุด “อสุรกาย 112” ก็พร้อมคืนชีพได้เสมอ

ประชาชนผู้รณรงค์เรียกร้องการยกเลิก 112 มาอย่างอดทนเหน็ดเหนื่อยมากกว่าทศวรรษ จำเป็นต้องพุ่งตรงกดดันไปที่นักการเมือง พรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะพวกเขาเหล่านี้มีอำนาจรัฐในการทำให้เกิดขึ้นจริงในระบบกฎหมาย

เรียกร้องกดดันให้หนักไปที่พรรคการเมือง

และหากพรรคการเมืองใดที่ทำเรื่องนี้จริง แล้วประสบเหตุเภทภัย จนทำให้ไม่สำเร็จ ประชาชนก็จะเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้

แน่ล่ะ… หากพรรคการเมืองหรือ ส.ส.เดินหน้ายกเลิก 112 ก็อาจถูกกลไกรัฐของระบอบนี้เข้าสกัดขัดขวาง

ตั้งแต่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายล้าหลัง สมาชิกวุฒิสภากาฝาก ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการประกาศใช้กฎหมาย

แต่นั่นมิใช่เหตุผลข้ออ้างในการไม่ทำอะไรเลย

หากนักการเมืองคาดการณ์ว่า อาจถูกสกัดขัดขวาง จึงไม่ทำ ผลลัพธ์ก็คือ ประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากมีนักการเมืองเป็น “พะนะท่าน” ชูคอในสภา ในรัฐบาล เพิ่มขึ้นๆ ต่อไปๆ

ตรงกันข้าม ถ้าลงมือทำ แล้วเกิดสำเร็จ ผลดีก็จะเกิดอย่างถ้วนทั่ว แต่หากถูกสกัดขัดขวาง มันก็กลายเป็นโอกาสในการยกระดับการต่อสู้

ทุกอย่างอยู่ที่ เจตจำนง”

ภาพ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ออกมาโต้ “ปิยบุตร” จากแฟ้ม
ล่าสุด วันนี้(17 ก.ย.) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ประธานที่ปรึกษาหมูบ้านเทิดไท้องค์ราชัน กล่าวถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ลักษณะเรียกร้องให้นักการเมืองเลิกมาตรา 112 โดย นายเสกสกล ย้ำว่า

การมีกฎหมาย ม.112 คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศก็ให้การยอมรับ ซึ่งหากไม่อยากให้ถูกลงโทษ ก็ไม่ควรที่จะทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะมาตราใดก็ตาม

นายเสกสกล มองว่า การที่นายปิยบุตรออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 มีเจตนาไม่ดี ที่จะกระทำการใดเกี่ยวกับสถาบันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีพฤติกรรม วิพากษ์วิจารณ์สถาบันไม่หยุด แต่คงกลัวจะถูกดำเนินคดี จึงมีความพยายามที่จะแก้กฎหมายดังกล่าว

“ตนเองไม่เข้าใจว่าสถาบันไปทำอะไรให้นายปิยบุตร และพรรคพวกสามกีบจึงออกมาเคลื่อนไหว จาบจ้วง ก้าวล่วงสถาบันไม่หยุด ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวของนายปิยบุตรนั้นยังสร้างความไม่พอใจให้กับคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอีกด้วย รับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศด้วย กฎหมายก็อยู่ดีๆ หากใครไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

นายเสกสกล กล่าวต่อว่า หาก นายปิยบุตร ไม่สามารถที่จะยอมรับกฎหมายไทยได้ ก็ขอให้นายปิยบุตร ออกจากประเทศนี้ไปจะง่ายกว่า หรือพาบรรดาลูกสมุนสามกีบที่ออกมาเคลื่อนไหวออกไปด้วย หากไม่รักชาติ รักสถาบัน แน่จริงก็ออกไปให้พ้นๆประเทศไปอย่าหน้าไม่อายมาอาศัยประเทศนี้อยู่เลย หนักแผ่นดินเปล่าๆ

“ในสมองวันๆ คงคิดเรื่องอื่นไม่เป็นแน่ คนไทยที่จงรักภักดีและปกป้องสถาบัน ฝากมาบอกนายปิยบุตรและพวก ว่า อย่าให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศต้องลุกฮือ ออกมาขับไล่จนถูกกระทืบจมธรณี ทุกวันนี้ก็ช่วยกันคั่วพริกคั่วเกลือสาปแช่งคนเนรคุณต่อราชวงศ์ และคนอกตัญญูต่อแผ่นดินทุกวันอยู่แล้ว” (จากไทยโพสต์)

ภาพ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำม็อบราษฎร และผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak ระบุว่า

“วันนี้ ศาลยกคำร้องขอถอด EM เพื่อไปบรรยายเรื่องประชาธิปไตยในที่ประชุมประชาธิปไตยเอเชียของคุณลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว

วันก่อน ผมยื่นคำร้องขอถอด EM อันเนื่องจากอาการปวดข้อเท้าจากโรคข้อ โดยได้รับคำแนะนำจากหมอ ศาลก็ยกคำร้อง

วันก่อนโน้นอีก คุณเวหา ขอยื่นคำร้องขอถอด EM เพราะจะต้องเข้าเครื่อง CT Scan ศาลก็สั่งยกคำร้องเช่นกัน

โพสต์ไว้เป็นบันทึก” (จากสยามรัฐออนไลน์)

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การออกมาปลุกกระแสการต่อสู้ด้วยแนวทางใหม่ ในการยกเลิกม.112 คือ กดดันให้พรรคการเมือง นักการเมือง ส.ส. และรัฐสภา ออกกฎหมายยกเลิก เพราะสามารถทำได้อยู่แล้ว ตามอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย

แถมยังชักชวนประชาชนคนไทยช่วยกันกดดันพรรคการเมือง และ ส.ส.ให้ยกเลิก ม.112 “จำเป็นต้องพุ่งตรงกดดันไปที่นักการเมือง พรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะ พวกเขาเหล่านี้มีอำนาจรัฐในการทำให้เกิดขึ้นจริงในระบบกฎหมาย”

หลังจากก่อนหน้านี้ แนวคิดและแนวทางของกลุ่ม “ปิยบุตร” ก็คือ การสร้างพลังกดดันนอกสภา ผ่านการรณรงค์ เรียกร้อง และชุมนุมทางการเมือง แต่ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ไม่มีทางสำเร็จ ถ้านักการเมือง ส.ส.ไม่แสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการแก้ไข และเห็นถึงพิษภัยจากกฎหมายฉบับนี้

แต่สิ่งที่ “ปิยบุตร” ลืมไปก็คือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ คือ กลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ การยกเลิก ม.112 ก็เท่ากับว่า เปิดช่องให้มีการ “หมิ่นสถาบันฯ” โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพราะไม่มีกฎหมายเป็นข้อห้าม

คำถามก็คือ ในเมื่อประชาชนคนไทย ยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ แล้วจะให้ประชาชนกดดัน ส.ส. เพื่อยกเลิก ม.112 ดูเหมือนย้อนแย้งกันอย่างไรไม่รู้

ก็ลองดูว่า จะมีพรรคการเมืองไหน รับข้อเสนอ “ปิยบุตร” ไปเป็นนโยบาย แล้วประกาศชัดเจนว่า ต้องการยกเลิก “ม.112” กล้าหรือไม่!?


กำลังโหลดความคิดเห็น