กกต.ประชุมติวเข้มคณะอนุวินิจฉัยฯ ถอดบทเรียนสืบสวนไต่สวนรับเลือกตั้ง ย้ำดำเนินคดีทุจริต ต้องยึดหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ แต่ระวังคลิปแอบถ่ายเพราะศาลยกคำร้อง ส่วนปมร่วมงานศพต้องวินิจฉัยเป็นเรื่องๆ
วันนี้ (16 ก.ย.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการสืบสวน ไต่สวน และการดำเนินคดีเลือกตั้ง โดยมีประธานคณะอนุกรรมการวินิจฉัยทั้ง 35 คณะและฝ่ายสืบสวนสอบสวนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์และสรุปแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อให้การกระบวนการทำงานด้านสืบสวน ไต่สวนและดำเนินคดีเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯว่ามาตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจสั่งการในสายงานขึ้นอยู่กับเลขาฯ กกต. จึงไม่สามารถก้าวก่ายได้ ซึ่งการเลือกผู้ที่จะมาทำงานหน้าที่ในคณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯนั้น เลือกจากคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ บางคนมีความเชี่ยวชาญเรื่องการสืบสวนไต่สวน โดยชุดนี้จะหมดวาระก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า แต่เชื่อว่า ทุกคนจะได้รับเลือกให้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง ซึ่งการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้จะเกิดประโยชน์ เพราะสำนวนที่ผ่านมือของแต่ทุกคนอาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน ทั้งวิธีการคิดหรือการดำเนินงาน เชื่อว่า การแลกเปลี่ยนจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและขยายหลักความคิดมากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคมจะเกิดได้จากความร่วมมือของประชาชนทุกคน เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน ผู้สมัคร ส.ส.ก็เป็นตัวแทนประชาชนที่อาสาตัวเข้ามา และประชาชนที่ กกต.คัดเลือกมาทำหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. 2,000 กว่าคน ก็มีหน้าที่กำกับดูแล สร้างระเบียบ ให้ความรู้กับ กปน. ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ทั้งนี้เมื่อมีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามาเข้ามายัง กกต.ก็มีขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบ 5 ชั้น เริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เลขาธิการ กกต. คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งและคณกรรมกการเลือกตั้ง โดยแต่ละชั้นไม่ขึ้นต่อกัน ทั้งนี้ในวันนี้ได้เชิญมาหารือเพื่อเป็นการถอดบทเรียนการดำเนินการไต่สวนสืบสวนและการดำเนินคดีเลือกตั้ง ทั้งนี้ กกต.ชุดนี้ต่างจากชุดที่ผ่านมาเพราะผ่านการเลือกตั้งมาทุกระดับ โดยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กกต.รวมกว่า 5,156 คดี รับไว้พิจารณา 2,367 เรื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. 592 เรื่อง เหลือรับไว้วินิจฉัย 286 เรื่อง ยังมีเรื่องค้างพิจารณาอีก 6 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อม คาดจะแล้วเสร็จในปีนี้
“ผมบอกแล้วว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาชน ถ้าผู้สมัครไม่เบี่ยงเบนหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ทำอะไรเบี่ยงเบนเช่นกัน หรือแม้กระทั่งคนที่ทำหน้าที่ประจำหน่วย ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็คงไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามการทำอะไรในคนหมู่มากย่อมต้องมีสิ่งที่เค้าเรียกว่าบิดเบือนและบิดเบี้ยวไปบ้าง เพราะฉะนั้นถ้ากรณีปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเกิดจากการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แน่นอนมันอาจจะเป็นความปรากฏที่จะเข้ามาสู่อำนาจของ กกต.โดยแท้หรือเมื่อเห็นว่าเป็นเช่นนั้นอาจมีผู้ร้องคัดค้านขึ้นมา”
ด้าน นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ กรรมการการเลือกตั้ง ได้กล่าวถึงกระบวนการดำเนินการสืบสวนที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการชั้นต้น ซึ่งในชั้นของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นเรื่องปลายน้ำ บางคนอาจไม่รู้กระบวนการต้นน้ำ แต่ก็ไม่อยากจะถาม เพราะกลัวเสียฟอร์ม วันนี้จึงมาถอดบทเรียนทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว เมื่อพูดถึงการฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ต้องดูตั้งแต่กฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดตั้ง เช่นระเบียบบริหารการแผ่นดิน การกำหนดแผนและกระจายอำนาจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายจัดตั้งองค์กร ขณะนี้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯกำลังดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงต้องมีความรู้กฎหมายท้องถิ่นและระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มี 30 กว่าระเบียบ เมื่อจะวินิจฉัยเรื่องใดต้องนำหลักกฎหมายและระเบียบ กกต. เป็นเกณฑ์
นายฐิติเชฏฐ์ ย้ำว่า การดำเนินคดีนั้นต้องให้ความสำคัญกับหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เช่น กรณีการซื้อเสียง จะต้องมีหลักฐานที่เป็นลายนิ้วมือแฝงในธนบัตรที่รับ แต่หากมีการนำเงินไปใช้ ไม่มีประจักษ์พยานแล้วก็จะต้องมีพยานแวดล้อมหรือพยานที่น่าเชื่อถือว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงจริง เช่น คลิปวิดีโอ แต่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระมัดระวัง เพราะหากเป็นคลิปแอบถ่าย เมื่อสำนวนไปถึงศาลแล้ว ศาลจะยกคำร้อง ส่วนกรณีการไปร่วมงานศพ ยังไม่มีข้อยุติจะต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้เห็นว่าทุกคนเข้ามาทำงานตามกฎหมายและตามระเบียบ กกต. มีอำนาจเต็มใช้ระเบียบสืบสวน เสมือนเป็นเจ้าพนักงาน กกต. และมีอำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติมหากสงสัยว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่รัดกุมเพียงพอ
“การไปร่วมงานศพ ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างกรณีพวงหรีดบางคนเห็นว่าคำนวณเงินไม่ได้ เพราะพวงหรีดเป็นสิ่งอัปมงคล คงไม่นำกลับบ้าน ดอกไม้ที่ปักแล้วเหี่ยว ท่านจะเอากลับบ้านหรอ แต่หากเป็นดอกไม้แห้งก็สามารถยกให้โรงเรียนไป แต่ดอกไม้สดถือเป็นวัสดุสิ้นเปลือง แต่ในกรณีการให้ ให้จักรยาน นาฬิกา ผ้าห่ม พัดลม หรือแจกตังค์ หากเสร็จงานศพท่านจะเผาจักรยาน พัดลม ไปพร้อมกับศพไหม เพราะถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง คำนวณเป็นเงินได้ อาจจะนำไปบริจาคต่อ ดังนั้นจะต้องวินิจฉัยเป็นเรื่องไป”