ข่าวปนคน คนปนข่าว
**แฟร์ๆ “ชัชชาติ” ยืนยันเอง รัฐบาลไม่ได้ลอกการบ้าน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” มีมานาน ใครเอาไปใช้ก็ดีหมด
มีดรามากันพอหอมปากหอมคอ เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้หน่วยงานราชการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริการ และแก้ไขข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน นี่เป็นการ “ลอกการบ้าน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่เอาระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มาใช้ในการรับเรืองร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่
ทั้งนี้ เพราะ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ได้พาสื่อไปชมระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่กี่วัน แล้วก็ถือว่าได้ผลดี โดย “ศานนท์ หวังบุญสร้าง” รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ว่า มีการร้องเรียนปัญหาของชาว กทม. ผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ แล้วกว่า 44,000 เรื่อง แก้ไขสำเร็จไปกว่า 14,700 เรื่อง จนได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนทั้งแบบปากต่อปาก และการคอมเมนต์การแชร์ ในโลกโซเชียลฯ จนใครๆ ต่างก็คิดว่า พอเห็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เอาไปใช้ได้ผลดี รัฐบาลก็กุลีกุจอรีบทำตามทันที
แต่พอนักข่าว ถามตรงๆเมื่อวาน (29 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า “ลุงตู่” ลอกการบ้าน ใช่หรือไม่ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ก็ตอบทันทีว่า “รัฐบาลไม่ได้ลอกการบ้าน ส่วนของ กทม.ก็นำจากเขามาอีกที ไม่ได้เป็นคนคิดค้นเอง ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เขาก็ทำมาตั้งนาน ทั่วไปก็มีเยอะแยะ และสวทช.ก็เป็นเงินของรัฐบาล
“ไม่มีลอกการบ้านหรอก ใครๆ ก็ใช้ได้ ใครใช้ก็ดีหมด และมองว่า ยิ่งเป็นประโยชน์ ดียิ่งใช้ยิ่งขยาย ถ้าเป็นเนื้อเดียวกันหมดทั่วประเทศเลยยิ่งดี”
คำตอบของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ถือว่าให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ฉวยโอกาสเอาหน้าแต่ผู้เดียว เพราะอันที่จริง แอปพลิเคชัน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ถูกพัฒนาขึ้นและเปิดใช้งานตั้งแต่เดือน มิ.ย. 61 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดย “ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม” นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยใช้เทคโนโลยีหลัก คือ Geographical Information System เพื่อการจัดเก็บรายละเอียดข้อมูล ตำแหน่งของสถานที่ รวมถึงรูปภาพของสถานที่ ร่วมกับ เทคโนโลยี AI ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล Big Data ออกมาเป็นข้อมูลที่พร้อมใช้งาน
และเมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ร่อนหนังสือลงวันที่ 15 มิ.ย. 65 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่พิจารณานำ Traffy Fondue ไปใช้งานในท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นสัปดาห์เดียวกัน คณะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ได้เข้าพบอธิบดี สถ. เพื่อสาธิตและเชิญร่วมงาน Traffy Fondue 2022
หนังสือของ ทีมงานพัฒนาระบบ Traffy Fondue ที่ส่งถึงมหาดไทย ระบุข้อมูลความคืบหน้าของระบบแพลตฟอร์ม ว่า มีบุคลากร 110,755 คน ใน 2,131 หน่วยงาน เข้าถึงระบบนี้แล้ว มีการรับแจ้งปัญหาถึง 29,222 เรื่อง
นอกจาก กทม. ที่ใช้ระบบนี้แล้ว ก็ยังมีเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลตำบลนาคำไฮ เทศบาลตำบลอาจสามารถ เทศบาลตำบลร้องกวาง อบต.หนองแดง อบต.โพนสูง อบต.เก่าลอย และ อบต.นาบัวมี การเปิดใช้เต็มระบบ มีการส่งต่อเรื่องร้องเรียนต่อไปยัง ศูนย์ 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ปปท. รวมถึงกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (ปภ.) และเนคเทค ยังมีแผนขยายผลการใช้งานระบบ Traffy Fondue ไปสู่เทศบาลและ อบต.ทั่วประเทศภายใน 2 ปีข้างหน้า
ก็เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาล “3 ลุง” ไม่ได้ลอกการบ้าน “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” อย่างแน่นอน แต่ก็มีคำถามอยู่ดีนั่นแหละ ว่าทำไมแอปฯ นี้ถูกพัฒนาและเปิดใช้มา 4 ปีแล้ว ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลย นี่ถ้า กทม.ยุคผู้ว่าฯคนใหม่ไม่เอามาใช้ คนทั่วไปจะรู้จักเจ้าแอปฯ นี้มั้ย
** “ลุงตู่” เปรียบไทยเป็นรถยนต์ ลุงเป็นคนขับ หากรถมีปัญหาประชาชนก็ต้องลงมาช่วยกันเข็น!!
เพราะเรตติ้ง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตกวูบ แพ้คู่แข่งคราวลูกคราวหลาน อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ส่งลงสนาม
เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ฝ่ายที่เชียร์ “อุ๊งอิ๊ง” ก็บอกว่าถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ ส่วนฝ่าย “ลุงตู่” มองว่า “อุ๊งอิ๊ง” ยังละอ่อนทางการเมือง มาถึงก็จะเป็นนายกฯเลยหรือ ผลโพลเชื่อไม่ได้ เพราะสอบถามจากตัวอย่างแค่หลักร้อยหลักพัน และอาจจะไปถามในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ ต้องดูของจริงจากการเลือกตั้งถึงจะแน่นอน
แต่สถานการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้ บรรดากุนซือข้างกาย “ลุงตู่” จะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหาทางแก้เกม วิธีที่นักการเมืองนิยมทำกันที่สุด คือ ลงพื้นที่แล้วเกณฑ์คนมาต้อนรับ มาชูป้ายเชียร์ มาตะโกนรักลุงตู่ ลุงตู่สู้สู้ เพื่อเรียกเรตติ้ง เพราะถือว่าการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างภาพ
แล้ว “ลุงตู่” ก็มีกำหนดการขึ้นไปตรวจราชการที่ จ.เชียงใหม่ ที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของคนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือบุกบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร”
แน่นอนว่า เมื่อนายกฯมา ข้าราชการในพื้นที่ก็ต้องจัดคนมาต้อนรับ มาชูป้ายเชียร์ ส่วนเจ้าถิ่นที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อถูกเหยียบจมูกก็ต้องจัดคนมาต้าน มาชูป้ายขับไล่ แม้จะไม่มีเหตุรุนแรงถึงขั้นปะทะ แต่ก็ต้องมีให้เห็นเป็นสัญลักษณ์
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะไปพบปะประชาชนที่ไหน “ลุงตู่” มักพูดถึงผลงานที่ผ่านมาในช่วงที่เป็นนายกฯ ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งบางเรื่อง บางโครงการอาจยังไม่สำเร็จ หรือไม่เป็นที่ถูกใจของบางคน เพราะเป็นการทำเพื่อคนในประเทศทั้ง 70 ล้านคน ไม่ใช่ทำให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจังหวัดที่เลือกตนเอง ส่วนคนที่ไม่เลือกก็ต้องรอไปก่อน ...เพื่อกระทบ ไปถึงคำพูดของ “ทักษิณ”เมื่อครั้งที่ครองอำนาจ
แต่ไฮไลต์ ของการปาฐกถาที่เชียงใหม่ของ “ลุงตู่” ครั้งนี้ อยู่ในช่วงการเปิดงาน FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่
โดย “ลุงตู่” เกริ่นว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังพบกับสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง และจะอยู่ไปอีกนาน อาจเป็นพายุขึ้น วันนี้เป็นต้นๆ ของพายุ จึงต้องมาพูดคุยกันให้เข้าใจ ทั้งภาครัฐ สมาคมหอการค้าฯ เราต้องจับมือไปด้วยกัน
“ลุงตู่” เปรียบเทียบว่า ประเทศไทยก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นรถอะไร เป็นรถคันใหญ่ๆที่พาคนไทย 70 ล้านคนไปข้างหน้าบนเวทีโลก ตนเองในฐานะนายกฯ ต้องทำให้รถยนต์คันนี้เดินหน้าไปให้ได้ ให้รถยนต์เครื่องนี้ไม่ติดขัด มีพลังงานที่เพียงพอ ทำให้ประชาชนที่อยู่บนรถ สะดวกสบายในการเดินทาง แต่คงไม่ใช่ง่ายๆ เพราะเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ เทคโนโลยีพลังงาน เกี่ยวกับคนในรถ ซึ่งมีความหลากหลาย...
“ลุงตู่” ยังขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน พร้อมชมว่า คนไทยไม่ด้อยกว่าคนอื่น ไม่อย่างนั้นคงไม่อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรัก ความสามัคคี เสถียรภาพ เราทะเลาะกันไม่ได้อีกแล้ว
... ต้องนั่งรถคันเดียวกันไป จะเป็นจะตายก็ต้องช่วยกันเข็น ส่วนใครจะนำ ก็ต้องว่าไป แต่สิ่งที่ทำวันนี้ต้องต่อเนื่อง ถ้าบอกว่าไอ้นู่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ไม่ใช่ ก็ไม่ถูก ผมไม่ได้ว่าใคร ว่าตัวเอง ผมชอบพูดหาเรื่องแบบนี้แหละ แต่พูดด้วยหัวใจ หัวใจของผมเพื่อประชาชน...
จากคำพูดของ “ลุงตู่” เที่ยวนี้ที่เปรียบประเทศเป็นรถ ตัวเองเป็นคนขับ ประชาชนเป็นผู้โดยสาร ... ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลฯกันมาก แบบหาคำชมแทบไม่มีเลย ...บ้างก็ว่า คนขับยังไม่รู้ว่าเป็นรถอะไร แล้วอย่างนี้จะไว้ใจให้ขับต่อไปหรือ ... ลุงขับรถมา 8 ปีแล้ว ยังพาไปไม่ถึงไหนเลย... แบบนี้น่าจะเรียกเกวียนมากกว่าไม่ใช่รถ ...ที่ผ่านมา เคยทิ้งคนไว้กลางทางเท่าไรแล้วล่ะลุง เคยนับบ้างไหม ...จะให้ประชาชนลงมาช่วยกันเข็น ตัวเองนั่งสบาย เปลี่ยนคนขับดีกว่าไหม ...
ก็คงต้องรอวัดใจในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าประชาชนคนไทยพร้อมที่จะลงมาเป็นคนเข็นรถ ให้ “ลุง” นั่งถือพวงมาลัยต่อไปหรือไม่