โฆษก กมธ.งบฯ ปี 66 แจง ถกงบ ก.ต่างประเทศ เรียบร้อย เดินหน้าดีอีเอสต่อ กำชับแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยกเป็นวาระแห่งชาติ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
วันนี้ (29 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.50 น. ที่รัฐสภา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ และ นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงผลการประชุม กมธ.งบประมาณ ปี 2566 โดย นางสาวจิราพร กล่าวว่า ในการพิจารณาเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) กมธ.ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7,556,489,900 บาท ทั้งนี้ มี กมธ.บางคนสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและความก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานกนศ. เพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ในปัจจุบันคณะกรรมการกำลังรอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ นำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวของหน่วยงานต่างๆ และนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่ที่ประชุม กนศ.สรุปผล เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กมธ.ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 15 วัน รวม 136 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 6 กระทรวง 4 หน่วยงาน 5 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 22.2 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ
ด้าน นายณัฏฐ์ชนน กล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อวานที่ประชุม กมธ. ยังพิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งมี กมธ.ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเสนอแนะและสะท้อนว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก จากกรณีที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.มาหลอกให้โอนเงิน ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้ถึงข้อมูลส่วนตัวในเชิงลึกของประชาชน เพราะมีการซื้อขายข้อมูลส่วนตัว และสามารถเลือกบัญชีเป้าหมายได้ตามความต้องการของมิจฉาชีพ เมื่อประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินแล้วจะมีการโอนเงินจากบัญชีที่รับโอนภายใน 5 นาที ส่วนใหญ่จะมีการโอนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพื่อที่จะไม่ให้เหยื่อสามารถไปทำธุรกรรมได้เหมือนวันปกติ และปกติคนไทยมีซิมโทรศัพท์เพียงแค่ 1-2 ซิม แต่จากการตรวจสอบบางคนมีเบอร์โทรศัพท์ 4,000 ซิม หรือ 5,000 ซิมบ้าง นี่คือสิ่งที่กมธ.ต้องการให้กระทรวงดีอีเอสรีบไปดำเนินการ โดยให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดีอีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์
นายณัฏฐ์ชนน กล่าวต่อว่า ด้านผู้แทนจากกระทรวงดีอีเอส ชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่แก๊งระดับประเทศ แต่เป็นมิจฉาชีพข้ามชาติที่มีหลายประเทศตกเป็นเหยื่อ โดยแก๊งเหล่านี้จะอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย เพื่ออาศัยเสาสัญญาณโทรศัพท์ของประเทศไทยทุกเครือข่ายเอื้อประโยชน์ แม้ว่าจะใช้การโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงใช้วิธีการปิดกั้นทางการเงินเอา เพราะเมื่อมิจฉาชีพได้รับการโอนเงินมาแล้วจะโอนต่อไปอีกอย่างน้อย 4 บัญชี และเป็นบัญชีต่างประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันแก้ปัญหา เช่นการส่งข้อความเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนประชาชน หรือให้ผู้นำท้องถิ่นเตือนประชานเบื้องต้นอีกทาง นอกจากนี้ ยังมี กมธ.บางส่วนท้วงติงเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารใน กทม. และทั่วประเทศที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยให้กระทรวงดีอีเอสจัดเก็บหรือตรวจสอบสายที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อดำเนินการให้เรียบร้อย