“สนธิรัตน์” เลขาฯ สร้างอนาคตไทย ชี้เปรี้ยงทางแก้ปัญหา ศก.อยู่ที่ “ศก.ฐานราก” ตามปาฐกถา “สมคิด” ที่วิเคราะห์เหตุวิกฤต ศก.ไทย มาจากปัจจัยภายนอก ต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งกับ ศก.ท้องถิ่น ยกตัวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ปั้นรายได้ให้ชุมชน-กระจายเม็ดเงินลงทุนไปยัง ตจว. เปิดทาง “คนตัวเล็ก” มีส่วนร่วม
วันนี้ (29 มิ.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ สาระสำคัญได้หยิบยกคำปาฐกถาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ปีที่ 88 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนายสมคิดได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จึงต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดการขยายตัว สร้างงานสร้างรายได้ควบคู่การอาศัยแรงหนุนจากภายนอก โดย นายสนธิรัตน์ เสริมว่า คำตอบอยู่ที่เศรษฐกิจฐานราก และได้หยิบยกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เคยผลักดันในสมัยเป็น รมว.พลังงาน ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการทำให้เกิดรายได้ให้ชุมชน มีการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังต่างจังหวัด
ทั้งนี้ ข้อความของนายสนธิรัตน์มีดังนี้
“คำตอบอยู่ที่เศรษฐกิจฐานราก
เศรษฐกิจชะลอตัว เศรษฐกิจถดถอย น่าจะเป็นคำคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจโลกและประเทศที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ครับ
เงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น คนที่ลำบากคือพวกเราที่ต้องซื้อของในราคาที่สูงขึ้น ต่อให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่พอไปซื้อของก็ได้ของลดลง
อ.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวในงาน ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันก่อนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาและจะรุนแรงขึ้น และเศรษฐกิจบ้านเราอิงกับปัจจัยภายนอกอย่างการส่งออก ท่องเที่ยว หรือลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่พ้นว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ท่านอาจารย์ได้ชี้ทางออกอย่างหนึ่ง คือ “สร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดการขยายตัว สร้างงานสร้างรายได้ควบคู่การอาศัยแรงหนุนจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงโหมดแห่งการพัฒนาต้องการพลังที่ยิ่งใหญ่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนในภาคชนบทและขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการ”
จึงเป็นที่มาของคำว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยวันนี้ คำตอบอยู่ที่เศรษฐกิจฐานรากครับ
คำตอบที่อยากเอามาแชร์กันวันนี้ คือ โรงไฟฟ้าชุมชน ครับ
โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นแนวคิดที่ผมวางไว้ว่าสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้กับคนตัวเล็กได้ เพราะมันจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่นจากการขายพืชพลังงาน สอดรับกับทิศทางประเทศเรื่องโลกร้อน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ และที่สำคัญลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง
แม้วันนี้ จะมีการสะดุดของการดำเนินโครงการและมีความล่าช้าอยู่บ้าง
แต่ผมเชื่อว่า ด้วยฐานคิดของโครงการนี้ และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัว การทำนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถทำให้เกิดรายได้ให้ชุมชน มีการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังต่างจังหวัด เหล่านี้ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดจากแรงกระตุ้นภายใน
วิกฤตเช่นนี้ หนึ่งในคำตอบของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่เศรษฐกิจฐานรากครับ”