“ส.ว.คำนูณ” เร่ง รมว.สธ.ประกาศให้กัญชาเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 2” ตามหลักการและเหตุผลคล้ายร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เมื่อ 80 กว่าปีก่อน เพื่อควบคุมการใช้กัญชาไม่ให้เกิดความเสียหาย จนเกิดกระแสตีกลับ ขณะที่ พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับใหม่ ที่จะออกมาควบคุม มีแนวโน้มยืดเยื้อ
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn เกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการประกาศให้กัญชาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ว่า เมื่อเกือบ 80 ปีก่อน มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. … โดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ต่อสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเห็นว่า กัญชาเป็นพืชที่ต้องควบคุม จะอันตรายร้ายแรงมาก หากไร้การควบคุม พระราชบัญญัติมึผลบังคับใช้เมื่อปี 2477 ตัวอย่างหลักการและเหตุผลผมได้ถ่ายภาพมาลงไว้เป็นตัวอย่าง พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับอยู่จนถึงปี 2522
โลกเปลี่ยนไป ประเทศเปลี่ยนไป วันนี้ เราหาซื้อกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาได้ง่ายๆ ตามร้านสะดวกซื้อ ทั้งขนมขาไก่หรือขนมขบเคี้ยวผสมกัญชา น้ำดื่มผสมกัญชา น้ำมันกัญชาผสมอาหาร อาหารสำเร็จรูปผสมกัญชา ฯลฯ โดยมีความเข้าใจกันว่า ขอเพียงแต่คนขายอายุเกิน 20 และขายให้บุคคลอายุเกิน 20 โดยยกเว้นบุคคลเปราะบาง 3 ประเภท ถือว่าทำได้หมด
เมื่อ 80 ปีก่อนเราเน้น “ควบคุม” เป็นหลัก แต่นับแต่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ดูเหมือนเรากำลังเน้น “เสรี” เป็นหลัก เพราะกฎหมายที่ควรออกมาควบคู่กันยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อพอสมควรทีเดียว ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา
“แม้จะมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ตามพระราชบัญญัติควบคุมและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 แต่ผมเห็นว่า ยังมีความเห็นต่างทางข้อกฎหมายในประเด็นสำคัญ
“ผมเห็นว่า เราไม่ควรปล่อยให้ด้าน “เสรี” อยู่เหนือด้าน “ควบคุม” นานวัน เร่งสร้าง “สมดุล” ขึ้นมาก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ผลเสียหายจากผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่โตได้โดยไม่คาดคิด กระแสอาจพลิกกลับได้ !
“รัฐมนตรีสาธารณสุขควรเร่งประกาศให้กัญชาเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 2” ตามนัยที่ผมเสนอไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเถอะ จะควบคุมแค่ไหน อย่างไร ท่านกับบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบได้เลยครับ” นายคำนูณ กล่าว