อธิบดีกรมแผนไทย เร่งร่างประกาศกระทรวงกำหนด "กัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม ช่วงสุญญากาศรอกฎหมาย เน้นคุมการครอบครองช่อดอกทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ป้องกันการเสพ ใช้สันทนาการ คาด 3-5 วันทำร่างเสร็จ เสนอคณะกรรมการคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาฯ เห็นชอบ ก่อนส่ง "อนุทิน" ลงนามประกาศใช้
จากกรณีนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงช่วงสุญญากาศ "กัญชา" หลังปลดล็อกจากยาเสพติด แต่ยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ออกมาควบคุม โดยเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ให้ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ซึ่งเป็นช่วงสุญญากาศ ขณะนี้กรมฯ ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆ ในส่วนของกัญชา จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่ หัวใจหลักคือ จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะมีรายละเอียดการควบคุมการครอบครองต่างกัน เพื่อป้องกันการเสพหรือใช้เพื่อสันทนาการ โดยจะเสนอ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาไทยเห็นชอบ หากเห็นชอบกับทางเลือกนี้ก็เสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจัดทำร่างดังกล่าวใช้เวลาแค่ 3-5 วันก็แล้วเสร็จ
นพ.ยงยศ กล่าวว่า แนวคิดการใช้ร่างประกาศดังกล่าว เพื่อมาควบคุมป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นจำกัดปริมาณการครอบครองกัญชา จากเดิมมีแค่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ควบคุมเรื่องควันและกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญเท่านั้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยฯ ใช้เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรที่กำลังจะสูญหายและมีราคาแพง เช่น กวาวเครือ เป็นต้น ส่วนตอนแรกที่ไม่ได้ใช้กฎหมายกับกัญชา เนื่องจากเกรงว่าเป็นแค่การเปลี่ยนกรงขังกัญชา แต่เมื่อนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับทีมที่ปรึกษา รมว.สธ.เสนอมาเช่นกัน ก็เห็นควรที่จะนำร่างประกาศดังกล่าว มาอุดช่องโหว่ในช่วงนี้
เมื่อถามถึงกรณี กทม.แถลงพบคนเสียชีวิตจากการเสพกัญชาเกินขนาด 1 คน และอีก 3 คนได้รับผลกระทบจนเข้ารับการรักษาใน รพ. จำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 16-17 ปี นพ.ยงยศ กล่าวว่า ถ้าใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีผลกระทบ จากการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชาของ สปสช. ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จำนวน 51,000 คน และตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาศุขไสยาศน์ 2,100,000 ครั้ง ก็พบว่าไม่มีเสียชีวิต หรือไม่ได้รับผลกระทบจากกัญชา ย้ำว่าหากประชาชนใช้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อทางการแพทย์ อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากผิดวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ ก็อาจได้รับผลกระทบได้ เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของ อย. และ ร้านอาหารที่น่าเชื่อถือ