วัดใจนโยบายผู้ว่าฯ กทม. รื้อ! 10 โครงการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสีย มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน หลังอนุกรรมการฟื้นฟู/พัฒนา 3 คลอง กทม.ชุดปลัด มท. จ่อชง “บอร์ดสิ่งก่อสร้างลำนํ้าสาธารณะ ชุดรองประวิตร” ขอไฟเขียวปรับเปลี่ยนแผนให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ทั่วไป ให้เป็น PPP Fast Track หวังลดระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม 25 เดือน ให้เหลือแค่ 9 เดือน เผยสั่ง กทม.สรุปสถานที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
วันนี้ (27 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ครั้งที่ 1/2565 เดือนเมษายน ที่จัดก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (23 พ.ค.2565) ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมคราวนั้น มีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
โดยหนึ่งในวาระพิจารณาที่น่าสนใจ อนุกรรมการได้เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียแบบ PPP ทั่วไป ให้เป็น ppp Fast Track เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินการ และให้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกลํ้าลำนํ้าสาธารณะ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานใน ในอนาคต
หนังสือเวียน ระบุว่า การพิจารณาคราวนั้น เป็นการพิจารณาแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหานํ้าเสีย ด้วยการก่อสร้างระบบรวบรวมนํ้าเสียและระบบบำบัดนํ้าเสีย
“การดำเนินการ PPP เป็นระบบที่มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 19-25 เดือน ฝ่ายบริหาร กทม. (ครั้งนั้น) ได้พิจารณาจะปรับเปลี่ยนการดำเนินการ PPP แบบทั่วไป เป็น PPP แบบ Fast Track ซึ่งจะใช้ระยะเวลา ดำเนินการเพียง 9 เดือน”
สำหรับ กทม. มีโครงการก่อสร้างระบบนํ้าเสียภายใต้แผนหลักการพัฒนาพื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 10 โครงการ พบว่า มีอยู่ 2 โครงการ ที่ยังไม่มีความพร้อม ในด้านที่ดินที่จะนำมาก่อสร้างโรงบำบัดนํ้าเสีย คือ โครงการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียลาดพร้าว และโครงการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียบึงกุ่ม พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับ อีก 8 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมนํ้าเสียจากพื้นที่รับนํ้าคลองลาดโตนดเปิดเดิน วงเงิน 294 ล้านบาท ล่าสุด ระบบรวบรวมนํ้าเสีย เข้าสู่ศูนย์การศึกษาฯ บางซื่อ แล้ว ซึ่งสามารถรวบรวมนํ้าเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน
2) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมนํ้าเสียเพิ่มเติมริมคลองแสนแสบช่วงถนนวิทยุ-คลองตัน วงเงิน 542 ล้านบาท เข้าโรงควบคุมคุณภาพนํ้าดินแดง ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำสัญญา
3) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมนํ้าเสีย (เพิ่มเติม) พื้นที่ห้วยขวางเข้าโรงควบคุมคุณภาพนํ้าดินแดง วงเงิน 1,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุมัติจ้าง
4) โครงการก่อสร้างโรงบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 วงเงิน 630 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 62
5) โครงการก่อสร้างระบบรวมรวม และระบบบำบัดนํ้าเสียคลองเตย วงเงิน 12,468 ล้านบาท อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
6) โครงการบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 จากงบ กทม. และงบอุดหนุบรัฐบาล เพื่อก่อสร้างโครงการ วงเงิน 2,902 ล้านบาท
7) โครงการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียดอนเมือง ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 จากงบ กทม. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุนและดำเนินโครงการ
8) โครงการก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียบางเขน ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 จากงบ กทม. เพื่อคึกษาความเป็นไปไดํในการให้เอกชนร่วมลงทุนและดำเนินโครงการ
“การก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสีย เป็นการดำเนินการภายใต้วงเงินงบประมาณที่สูง กทม. จึงพิจารณาความเหมาะสม ที่จะดำเนินการในลักษณะภาคเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะขับเคลื่อนโครงการบำบัดนํ้าเสียขนาดใหญ่”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคราวนั้น เห็นชอบปรับเปลี่ยนการดำเนินการ PPP แบบทั่วไป เป็น PPP แบบ Fast Track ซึ่งจะใช้ระยะเวลา ดำเนินการเพียง 9 เดือน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคราวนั้น ยังให้ กทม. สรุปเรื่องสถานที่ ที่จะใช้ก่อสร้างโรงบำบัดนํ้าเสียขนาดใหญ่ ให้แล้วเสร็จภายใน ระยะเวลา 1 เดือน
สำหรับนโยบายมากกว่า 200 ข้อ ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า มีแผนทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวม และ เชื่อมต่อท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม
กรุงเทพฯ มีโรงควบคุมคุณภาพน้ำ หรือโรงบำบัดน้ำเสียจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่เพียง 212.74 ตร.กม. จากพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตร.กม. คิดเป็นปริมาณน้ำที่ได้รับการบำบัดเพียง 1,112,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือร้อยละ 45 ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นการจัดหาพื้นที่สำหรับโครงการใหม่ การออกแบบ และการสร้างดำเนินการได้ด้วยความล่าช้า
ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างการผลักดันและก่อสร้าง โรงบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 4 แห่ง พร้อมกับระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย ประกอบด้วย โรงบำบัดน้ำเสียธนบุรี มีนบุรี หนองบอน และคลองเตย
ภายใต้โครงการศึกษาและสำรวจเบื้องต้นของโรงบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการนำโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2554
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้มีการทบทวนศึกษาใหม่ถึงความเหมาะสมที่สอดคล้องกับสภาพการพัฒนาเมือง และโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ดังนั้น กทม. ต้องมีการทบทวนศึกษาถึงตำแหน่งที่ตั้ง และความเหมาะสมของโครงการ ขนาดความจุหรือประสิทธิภาพการบำบัด เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาของเมือง ที่อยู่อาศัย ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกรุงเทพหานครในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาวะของเมืองและประชาชน
นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสีย และท่อรวบรวมน้ำเสียอยู่แล้วต้องมีการเชื่อมต่อการรับน้ำเสียจากครัวเรือนและสถานประกอบการเข้าสู่ระบบให้สมบูรณ์ โรงบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการอยู่แล้ว ประกอบด้วย ดินแดง สี่พระยา หนองแขม ทุ่งครุ ช่องนนทรี จตุจักร บางซื่อ และ รัตนโกสินทร์ (เขตพระนคร)