xs
xsm
sm
md
lg

กทม. ติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(23 มิ.ย. 65) เวลา 15.30 น. : นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยมี สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในการประชุมครั้งนี้ สำนักการโยธาได้รายงานความคืบหน้าการสำรวจอาคารที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร จากแนวคลองแสนแสบ มีอาคารทั้งหมด 164 อาคาร และวางแนวทางตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียให้ได้ตามกฎหมายกำหนดดังนี้ 1. อาคารเอกชน: สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต สามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2. อาคารราชการในส่วนของกรุงเทพมหานคร: เห็นควรสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกทม.ตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด 3. อาคารราชการและรัฐวิสาหกิจนอกสังกัดกทม.: เห็นควรพิจารณานำเรียนคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อสั่งการอาคารราชการและรัฐวิสาหกิจดำเนินการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ มีเขตที่อยู่ในแนวคลองแสนแสบ จำนวน 21 เขต ได้แก่ คลองสามวา คันนายาว ดินแดง บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ราชเทวี วัฒนา สวนหลวง สะพานสูง ห้วยขวาง หนองจอก ดุสิต วังทองหลาง ปทุมวัน บึงกุ่ม จตุจักร ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม

สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งถังดักไขมัน สำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานการคัดเลือกชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งถังดักไขมันรวม 48 ชุมชน 9,722 ครัวเรือน (จาก 21 เขตที่มีพื้นที่ติดริมคลอง) โดยกทม.ได้รับการสนับสนุนถังดักไขมันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1,429 ถัง ติดตั้งแล้ว 368 ถัง และขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. 1,483 ถัง ติดตั้งแล้ว 160 ถัง รวมได้รับการสนับสนุนถังดักไขมัน 2,912 ถัง ติดตั้งแล้วรวม 528 ถัง (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิ.ย. 65)

จากนั้นสำนักอนามัยได้รายงานแนวทางการดำเนินการให้ตลาดที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียมีการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการระบายน้ำทิ้งตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักอนามัยได้วางแนวทางเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขต เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลตลาด ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำทิ้ง เก็บตัวอย่างน้ำทิ้งและรายงานผล วางแผนปรับปรุงและบำบัดน้ำเสียของตลาด ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานผลในภาพรวม รวมถึงตรวจกำกับติดตามและรายงานผลอย่างต่อเนื่องด้วย

ในส่วนของสำนักงานตลาดกทม.ได้สำรวจระบบบำบัดน้ำเสียของตลาดภายใต้การดูแลของสำนักงานตลาดกทม.ทั้ง 12 ตลาด พบว่ามีระบบบำบัดน้ำเสีย 4 ตลาด ใช้งานได้ตามปกติ 1 ตลาด (ตลาดหนองจอก เขตหนองจอก) และระบบชำรุด 3 ตลาด (ตลาดประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักร ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ และตลาดธนบุรี เขตทวีวัฒนา) ส่วนอีก 8 ตลาดยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย โดยแบ่งเป็น 1. ตลาดที่จะต้องติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย 3 ตลาด (ตลาดนัดมีนบุรี เขตมีนบุรี ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค และตลาดเทวราช เขตดุสิต) 2. ตลาดที่ไม่เข้านิยามคำว่าตลาด ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข 3 ตลาด (ตลาดนัดจตุจักร เขตจตุจักร ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก เขตคลองสาน และตลาดสิงหา เขตคลองเตย) และ 3. ตลาดประเภท 2 ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ 2551 ออกตามความใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จำนวน 2 ตลาด (ตลาดราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ และตลาดรัชดาภิเษก เขตธนบุรี) ทั้งนี้ มีตลาดของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ตลาด ตั้งอยู่ในพื้นที่การให้บริการระบบบำบัดน้ำเสีย ของโครงการควบคุมคุณภาพน้ำ สำหรับการระบายน้ำ ซึ่งสามารถเชื่อมระบบท่อระบายน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของกทม. คือ ตลาดเทวราช ตลาดนัดจตุจักร ตลาดประชานิเวศน์ 1 และตลาดราษฎร์บูรณะ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการสำรวจสิ่งก่อสร้างและสิ่งกีดขวางทางเดินเรือคลองเปรมประชากร ซึ่งประธานได้มอบหมายให้สรุปข้อจำกัดที่พบ และให้จัดทำแผนการปรับปรุงทางด้านทัศนียภาพ การจัดระเบียบสายสื่อสาร การดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรายงานในการประชุมครั้งต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น