“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ขับเคลื่อนแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำจันทบุรี-ภาค ตอ. รับการขยายตัวความต้องการใช้น้ำทั้งระบบ ทั้งเกษตร อุปโภคบริโภค รวมถึงนำน้ำส่วนเกินป้อน EEC ตามยุทธศาสตร์รัฐ มุ่งให้ ปชช.กินดีอยู่ดี ศก.ดีขึ้น ขับเคลื่อนปฏิรูปแก้ที่ทำกิน เน้นย้ำเป็นธรรม ทั่วถึงครอบคลุมทุกกลุ่ม
วันนี้ (27 มิ.ย.) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกทั้งระบบ ในการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหาร และเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกอันดับต้นๆ โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมในอีก 3 จังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของความกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน พร้อมพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน
พลเอก ประวิตร ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาแหล่งน้ำ แก้ปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ จากผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในภาพสรุป ปี 61-65 การพัฒนาน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี จำนวน 704 โครงการ มีปริมาณน้ำเพิ่ม 316 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 95,000 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 17,021 ครัวเรือน สำหรับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่แปลงทุ่งฟ้าผ่า กว่า 4,200 ไร่ อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ครอบครอง และการบริหารจัดการให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ จันทบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตร 3.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.6 ของพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญมีปริมาณสูงถึง 766,000 ตัน คาดว่า ปี 2565 สร้างมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านบาท เป็นแหล่งผลิตพืชที่สำคัญของประเทศ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อย จะสามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์ว่า จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ 1 แห่ง คือ อ่างคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2566 และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะแล้วเสร็จปี 2567
“ปัจจุบันได้แต่งตั้ง 2 คณะอนุกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำ และคณะอนุกรรมลุ่มน้ำจังหวัด ที่มีอยู่ 22 แห่ง วางแผนร่วมกันในการกระจายน้ำทั่วภูมิภาค ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ นับว่าได้ผลมาก ไม่มีพื้นที่ใดในประเทศ ที่ต้องประกาศเป็นภัยแล้ง แต่ก็พบว่าหลายพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมในการกักเก็บน้ำ อย่างเช่น จ.จันทบุรี แม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกสูงถึง 1,000 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่เก็บน้ำได้เพียง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือปริมาณน้ำต้องทิ้งทะเล ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน”
ส่วนอ่างเก็บน้ำวังโตนด เป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 4 แห่งที่จะบริหารน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมีความต้องการ สนับสนุนการเพาะปลูกผลไม้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 4 ที่ เป็นการก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่ ขณะนี้ยังติดปัญหาการคัดค้านของกลุ่มเอ็นจีโอ ที่มองว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้กรมชลประทานยังไม่สามารถเสนอรายงาน (EHIA) ฉบับสมบูรณ์ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอเพิกถอนพื้นที่บางส่วน
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด ที่ยังติดขัดบางเรื่อง โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับลดแผนการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อนำเสนอรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามงบประมาณปี 2567 ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มูลค่า 6,400 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2567-2572) ซึ่งหากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้มีความจุของอ่างรวมทั้งหมด 308.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะสามารถรองรับน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในจังหวัดภาคตะวันออก มักจะเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีจำกัด ความต้องการน้ำจืดเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและการขยายพื้นที่การเกษตร ขณะที่ปัญหาอุทกภัย มีสาเหตุมาจากสิ่งกีดขวางทางน้ำและลำน้ำตื้นเขิน เนื่องจากมีพื้นที่ชุมชนหนาแน่น บางพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำระบายออกสู่ทะเลได้ช้า
ดังนั้น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำภาคตะวันออก 4 แห่ง จะสอดคล้องกับการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงแหล่งน้ำ ที่จะทำให้มีประสิทธิภาพในการเก็บกักแหล่งน้ำให้เพียงพอ รวมทั้งยังมีระบบพัฒนาการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในชุมชนเมือง การจัดทำผังเมืองและผังการระบายน้ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนครอบคลุมที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำภาคตะวันออกได้อย่างยั่งยืน
พลเอก ประวิตร ยังได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนราชการ ที่ร่วมขับเคลื่อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปฏิรูปแก้ปัญหาที่ดินและน้ำที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน มีน้ำกระจายใช้อย่างทั่วถึงเป็นธรรมในทุกกลุ่ม โดยกำชับขอให้ สทนช. เร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำภาคตะวันออก และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่งให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ให้ครอบคลุมทั้ง การอุปโภค บริโภค พื้นที่การเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะสวนผลไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรอง สนับสนุนพื้นที่ EEC เพื่อลดปัญหาผลกระทบภัยแล้งและความต้องการน้ำที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้ ขอให้ สทนช. เข้าไปศึกษาแก้ปัญหาและบริหารจัดการประตูน้ำ เพื่อลดปัญหาความเค็มของแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง จากน้ำทะเลหนุนไปพร้อมๆ กับการลงทำความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ได้ลงติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (คลองภักดีรำไพ) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันมิให้พื้นที่เขตเมือง ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วม พร้อมกับพบและรับฟังประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหาในพื้นที่ หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ.แก่งหางแมว เพื่อสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด โดยได้พบปะพูดคุยรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ โดย พล.อ.ประวิตร’ ยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ ที่มุ่งยกระดับความ ความยั่งยืน และยกระดับการกินดีอยู่ดีในลักษณะมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน