xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและของโลก

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดรับกับการพัฒนาของโลกที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งยังได้เร่งขับเคลื่อนโครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน ทั้งประเทศเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม เป็นโครงการที่ได้รับรางวัล The Winner ในงาน World Summit on the Information Society (WSIS) Prizes 2019 ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำที่ดำเนินการอยู่ จะช่วยเสริมบทบาทของไทยเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เชื่อมต่อจีน-อินเดีย-อาเซียน มีประชากรรวมกันกว่า 3,300 ล้านคน หรือเกือบ “ครึ่งโลก”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่ (Transform) รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ โดยได้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการภาคเอกชนและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงง่าย ซึ่งได้ทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการพัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (ปี 2558) ยกระดับระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการออกใบอนุญาต (ปี 2559) พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (ปี 2563) และการดำเนินโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID)” เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เข้าถึงการดูแลของภาครัฐโดยใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน

“ล่าสุด โครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ หรือ SME One ID ภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้วรวม 2,045 ราย ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ เพื่อให้ประชาชนมีการพัฒนาตนเองต่อเนื่อง ปรับตัวให้สอดคล้องทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลอดจนทันต่อเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น