xs
xsm
sm
md
lg

“3 นิ้ว” เงียบ! “ชัชชาติ” จัด 7 พื้นที่ชุมนุม “สมศักดิ์ เจียม” ถามหา “สนามหลวง” ย้อน “ช่อ” เห็นต่าง เผด็จการทำกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากแฟ้ม
“สมศักดิ์ เจียม” ถามหา “สนามหลวง” หลัง “ชัชชาติ” ประกาศ 7 พื้นที่ชุมนุม “ดร.อานนท์” แชร์ความเห็นสนับสนุนจัดระเบียบ ย้อนความเห็น “ช่อ” ชุมนุมทำได้ทุกที่ ถ้ารัฐกำหนด เผด็จการทำกันเพื่ออ้าง “ประชาธิปไตย”

น่าสนใจอย่างยิ่ง วันนี้ (24 มิ.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ลี้ภัยคดี 112 ที่ฝรั่งเศส โพสต์ข้อความหลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ 7 พื้นที่ ที่ กทม.จัดให้เป็นที่ชุมนุม ระบุว่า

“ไม่มีสนามหลวง
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1011805?aoj
คงอ้างว่า “กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ” = ...ไม่ชอบ ต้องการเก็บสนามหลวงไว้ใช้เป็นสนามส่วนตัว และชัชชาติไม่กล้า”

ภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากแฟ้ม
ทั้งนี้ วันนี้ นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

1. สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

1.1 ลานคนเมือง เขตพระนคร

1.2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

1.3 ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร

1.4 ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง

1.5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี

1.6 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ

1.7 สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

ทั้งนี้ ลักษณะ ขนาดพื้นที่ และความสามารถในการรองรับผู้เข้าร่วมชุมนุมตามข้อ 1.1-1.7 มีรายละเอียดตามแผนผังและตารางแนบท้ายประกาศนี้

2. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

2.1 ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้

พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม

2.2 การแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ตามข้อ 2.1 กระทำได้ตังต่อไปนี้

2.2.1 แจ้งโดยตรงต่อสำนักงานเขต

2.2.2 แจ้งทางโทรสาร และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร

2.2.3 แจ้งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถแสดงหรืออ้างอิงหรือเข้าถึงเพื่อนำกลับมาใช้ในภายหลังและยังคงความครบถ้วนของข้อความในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถระบุตัวผู้ส่งได้ และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร

ทั้งนี้ ในการแจ้งตามข้อ 2.2.2 และ 2.2.3 หากเกิดกรณีที่มีข้อสงสัย สำนักงานเขตพื้นที่อาจแจ้งให้ผู้แจ้งส่งต้นฉบับเอกสารขอใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

2.3 ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะได้ภายในกำหนดเวลาตามข้อ 2.1 ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มการชุมนุม เพื่อให้การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วน ผู้จัดการชุมนุมจึงควรแจ้งสำนักงานเขตล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมตามความเหมาะสม

2.4 ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการ มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ

2.5 การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

2.6 หากสำนักงานเขตพื้นที่หรือเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตรวจพบว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อ 2.5 ก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต่อไป

ภาพ แผนผังสถานที่ เนื้อที่ และความจุรองรับการชุมนุม 7 พื้นที่ ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้แชร์ข้อความคนที่เห็นด้วยกับการจัดระเบียบม็อบของ “ชัชชาติ” พร้อมโพสต์แผนผังเนื้อที่และความจุมาให้เห็นด้วย ระบุว่า

Thanachart Numnonda น่าจะเป็นเรื่องดีที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ลงนามกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ต่อไปใครจะไปชุมนุมทางการเมืองก็ให้ไปใช้ 7 สถานที่ดังกล่าว เลือกเอาได้ พวกที่จะไปชุมนุมที่แยกดินแดงทุกวัน ก็เลือกให้เข้าไปที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯแทน พวกที่จะไปสนามหลวง หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ให้ไปเจอกันที่ลานคนเมือง ฝั่งด้านวัดสุทัศน์แทน ถ้าจะไปราชประสงค์ก็อาจนัดไปชุมนุมที่ลานจอดรถสำนักงานเขตพระโขนงแทน ดูแล้วคิดว่าผู้ชุมนุมน่าจะเชื่อฟังดี เลือกสถานที่ตามจำนวนผู้ชุมนุมได้เลย

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ไม่เห็นด้วย กับ ชัชชาติ โดยระบุว่า

“ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของคุณชัชชาติ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเกิดได้ทุกที่ ผู้ว่าฯมีหน้าที่อำนวยความสะดวกผู้ชุมนุมและดูแลให้คนยังสัญจรไปมาได้ ไม่ใช่เปิดให้ชุมนุมได้แค่บางที่ การให้ชุมนุมได้เฉพาะในที่ที่รัฐกำหนด เผด็จการเขาใช้กันเพื่ออ้างว่าฉันเป็นประชาธิปไตย”

“เหตุที่การชุมนุมต้องเกิดได้ทุกที่ เพราะหากเราชุมนุมได้เฉพาะบริเวณที่รัฐกำหนด เท่ากับให้ผู้มีอำนาจควบคุมการชุมนุมได้ การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจทั้งนั้น หากรัฐไม่อนุญาตเราก็ไม่ได้ชุมนุม เท่ากับประชาชนถูกพรากเอาอาวุธหนึ่งเดียวที่ตัวเองมีไป”

โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเข้าไปถามว่า “คำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของม็อบ ก็ต้องคำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนสัญจรด้วย บางคนอาจพลาดโอกาสสำคัญเดียวในชีวิตไปเพราะเส้นทางถูกกีดขวาง เป็นประชาธิปไตย ต้องคำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนใช่หรือไม่”

ขณะที่ พรรณิการ์ ตอบกลับว่า “ใช่ค่ะ เราต้องคำนึงถึงสิทธิของทุกคน แต่ผู้ว่าฯที่มีความสามารถ จะสามารถบริหารให้คนยังสามารถสัญจรไปมาได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รับความสะดวกตามสมควรในระหว่างที่มีการชุมนุม”

ต่อมา พรรณิการ์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเพิ่มเติม ระบุ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของคุณชัชชาติเลยค่ะ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเกิดได้ทุกที่ ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม จัดรถห้องน้ำ ดูแลความปลอดภัย และในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมยังสัญจรไปมาได้ หรืออย่างน้อยก็ได้รับความสะดวกตามสมควร มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ไม่ใช่จัดโซนนิง เปิดให้ชุมนุมได้แค่บางที่

การให้ชุมนุมได้เฉพาะในที่ที่รัฐกำหนด เป็นวิธีที่ประเทศเผด็จการเขาใช้กันเพื่ออ้างว่าฉันเป็นประชาธิปไตย เปิดรูให้ประชาชนชุมนุมได้ในบางที่ แต่เป็นการชุมนุมที่จะไม่มีพลังไม่มีอิมแพคอะไรพอที่จะสะเทือนผู้มีอำนาจได้

หากพูดถึงความสะดวกไม่เดือดร้อนใคร อันที่จริงเวลาเราชุมนุมที่สนามหลวงก็ไม่เดือดร้อนใคร เพราะเป็นที่โล่งกว้าง แต่เพราะมันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ผู้มีอำนาจเดือดร้อน คนจัดชุมนุมที่สนามหลวงจึงโดนคดี

ภาพ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช จากแฟ้ม
หากคุณชัชชาติจะจัดโซนนิงให้ชุมนุม อยากทราบว่าหน้าทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเป็นโซนที่สามารถชุมนุมได้หรือไม่?

เหตุที่การชุมนุมต้องเกิดได้ทุกที่ เพราะหากเราชุมนุมได้เฉพาะบริเวณที่รัฐกำหนด เท่ากับให้ผู้มีอำนาจควบคุมการชุมนุมได้ การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจทั้งนั้น หากรัฐไม่อนุญาตเราก็ไม่ได้ชุมนุม เท่ากับประชาชนถูกพรากเอาอาวุธหนึ่งเดียวที่ตัวเองมีไป

แน่นอนว่า การชุมนุมขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวกในการใช้พื้นที่ การเดินทาง ขอยกตัวอย่าง เวลาอังกฤษจะมีการประท้วงหยุดงานของพนักงานรถไฟ ซึ่งกระทบกับการเดินทางของคนเป็นล้าน สหภาพเขาจะแจ้งล่วงหน้านานหลายวัน เพื่อให้ประชาชนวางแผนชีวิตตัวเองในวันที่จะมีการประท้วง และคนส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ วางแผนเลี่ยงการเดินทางหรือไปใช้ระบบโดยสารอื่น

“ความไม่สะดวกในการเดินทางเป็นสิ่งที่พวกเขายอมจ่ายเพื่อแลกกับสิทธิที่เพิ่มขึ้นของเพื่อนร่วมชาติ สวัสดิการที่ดีของพนักงานรถไฟอังกฤษ ได้มาจากการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่การเชื่อฟังและทำตามที่รัฐอนุญาต สวัสดิการ คุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพของคนไทยก็เช่นเดียวกัน” พรรณิการ์ระบุ

ทั้งนี้ เรื่องนี้ เมื่อช่วงหาเสียงผู้วาฯ กทม. ‘วอยซ์’ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายชัชชาติ เมื่อถามว่า การแก้ปัญหาม็อบชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม นายชัชชาติ ระบุว่า ตนมองว่าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดใหญ่ เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกเขตควรมีพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก เพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน นอกจากพื้นที่แบบอนาล็อกแล้ว ควรมีพื้นที่แบบดิจิทัลในการแสดงความคิดเห็นด้วย

ชัชชาติ ยังระบุด้วยว่า กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเครื่องเสียง รถสุขา มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ชุมนุมตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ปัญหาที่คนรุ่นใหม่อัดอั้นตันใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรับฟังพวกเขา เชื่อว่า ถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ สังคมจะดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บางม็อบของขบวน “3 นิ้ว” โดยเฉพาะหลังจากที่พวกเขา คิดว่า ได้ผู้ว่าฯ กทม.ฝ่ายตัวเองแล้ว พวกเขาพร้อมใจที่จะทำตามนโยบายอย่างเชื่องเชื่อ ไม่ขัดขวาง และทำตามแต่โดยดี อย่าง “ม็อบ 24 มิ.ย.” ที่จัดกิจกรรม ที่ลานคนเมือง

ประการต่อมา ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ในการจัดม็อบทางการเมือง ที่อาจมี “พวกอีแอบ” สนับสนุน ซึ่งอาจมีการเกณฑ์คนจำนวนมากเข้าร่วม ดูเหมือนพื้นที่ที่ กทม.จัดให้จะไม่สามารถรองรับได้ และไม่เป็นไปตามที่ “ชัชชาติ” ต้องการ และอาจเข้าข่ายที่ “ช่อ” แสดงความคิดเห็นโต้แย้งเอาไว้ ตั้งแต่ตอน “ชัชชาติ” หาเสียง

ประเด็นที่สาม การจัดพื้นที่ชุมนุมของ “ชัชชาติ” อาจอยู่บนพื้นฐานที่ว่า พักหลังม็อบมีจำนวนคนน้อยลงอย่างมาก ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเหมาะสม

โดยไม่เว้นแม้แต่ม็อบ “ทะลุแก๊ซ” ที่มักไปปะทะกับตำรวจที่แยกดินแดง ซึ่งก็มีจำนวนไม่มาก แทบไม่มีมวลชนเข้าร่วม เพียงแต่รูปแบบเป็นแบบ “จรยุทธ์”

ดังนั้น สิ่งที่ “ชัชชาติ” จะต้องเจอกับปัญหาใหญ่ และอาจแก้ไม่ตก ก็คือ ม็อบทะลุแก๊ซ นั่นเอง จะทำอย่างไรให้ไปม็อบในพื้นที่ที่ กทม.จัดให้ และไม่ไปก่อความวุ่นวาย หรือ ก่อความรุนแรงที่ดินแดงอีก

เหนืออื่นใด ข้ออ้างที่จะเคลื่อนขบวนไปบ้านนายกฯ “ชัชชาติ” จะจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้คน กทม.ส่วนใหญ่ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ “3 นิ้ว” ก็อาจจับตามอง เพราะการแก้ปัญหา อาจทำให้ “3 นิ้ว” มองว่า ช่วย “ประยุทธ์” ได้ หรือมีวิธีที่ดีกว่านั้น!?


กำลังโหลดความคิดเห็น