วันนี้ (23 มิ.ย.) รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร เป็นอดีตอาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Panitan Wattanayagorn” ระบุรายละเอียดว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ช่วยประชาชนได้จริงหรือเปล่า
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ เตรียมพร้อมและกำหนดแนวทางเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการรองรับ หรือป้องกันปัญหาวิกฤตทางด้านพลังงานและด้านอาหารให้กับประเทศ
สมช.ของไทยนั้น ตั้งมาร้อยกว่าปีแล้ว ตอนแรกก็เพื่อช่วยให้ประเทศรอดพ้นภัยจากมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง รวมทั้งให้อยู่รอดปลอดภัยจากการไล่ล่าอาณานิคมของมหาอำนาจทั้งตะวันตกและตะวันออก
หลังยุคสงครามโลกและหลังยุคการล่าอาณานิคม สมช.ก็มีหน้าที่กำหนดแนวทางและช่วยให้ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น และให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีกองกำลังขนาดใหญ่มาประชิดพรมแดนไทย และมีการรุกล้ำดินแดนและอธิปไตยของไทยเป็นระยะๆ เช่น จากกองทัพเวียตนามในกัมพูชา ที่รบชนะสหรัฐฯ มาแล้วในสงครามเวียตนาม นอกจากนั้น ยังมีผู้หนีภัยจากการสู้รบรอบบ้านเรา รวมทั้งจากพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน ที่ทะลักเข้ามาในไทยเป็นช่วงๆ รวมทั้งหมดแล้วเป็นล้านๆ คน (ท่านที่นึกสภาพตอนนั้นไม่ออกในยุคสงครามอินโดจีน ให้ดูการอพยพของชาวยูเครนไปยังโปแลนด์และอื่นๆ ในปัจจุบันเป็นตัวอย่างนะครับ แต่ก็ยังเทียบไม่ได้เพราะสงครามและความขัดแย้งในอินโดจีนที่เกิดขึ้นถึง 3 ระลอกและยาวนานเกือบ 40 ปี ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปหลายล้านคน รวมทั้งทหารอเมริกันกว่าแปดหมื่นคน)
ในยุคโลกาภิวัตน์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ปรับเปลี่ยนบทบาทเพิ่มและช่วยแก้ไขปัญหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์ ตามที่สหประชาชาติระบุไว้ ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งจากภัยคุกคามใหม่ๆ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติดสมัยใหม่ หรือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ที่ข้ามรัฐข้ามชาติ ข้ามพรมแดน ข้ามหน่วยงาน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน อีกทั้งยังเน้นเรื่องการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนและสังคมตามกติกาสากล โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและภาคประชาชน และต่างประเทศ เข้ามาช่วยกำหนดแนวทางในลักษณะที่บูรณาการกันมากขึ้น
ในสภาวะปกติ ถ้ามีปัญหา (problems) หรือมีความเสี่ยง (risks) ในเรื่องอะไร กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่โดยตรง ก็จะแก้กันไป โดยมีฝ่ายการเมือง ฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และภาคประชาชนรวมทั้งฝ่ายวิชาการ คอยท้วงติงและตรวจสอบกันตามปกติ สนง.สมช. ก็มีหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ และแจ้งเตือนรัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบเป็นระยะๆ
แต่ถ้าปัญหาหรือความเสี่ยงนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะยกระดับขึ้นมาเป็นภัยคุกคาม (threats) ต่อประเทศและต่อประชาชน หรือเกิดความเห็นต่างในการแก้ปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือประชาชนแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติตามกฏหมาย โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและเลขาธิการ ต้องดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยอาศัยหน่วยงานสำคัญของรัฐบาล คณะที่ปรึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ และหาข้อสรุปเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาในแบบองค์รวมให้กับรัฐบาล ก่อนที่ปัญหาหรือความเสี่ยงเหล่านั้น จะลุกลามบานปลายกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อประเทศและต่อประชาชน จนยากหรือสายเกินไปที่จะแก้ไข อย่างที่เราเห็นในหลายประเทศในขณะนี้
และหากปัญหาหรือความเสี่ยงทั้งหลายเกิดบานปลายออกไป และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและของประชาชนแล้ว สมช. ก็จะต้องใช้อำนาจพิเศษตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งก็จะต้องรายงานต่อรัฐบาลและรัฐสภาให้ทราบต่อไป
สัปดาห์นี้ ประชาชนจึงสงสัยกันว่า สมช. ที่มีข้าราชการพลเรือนเป็นกำลังสำคัญกว่า 150-200 คน รวมทั้งมีนายททารที่มีประสบการณ์แก้ไขวิกฤตต่างๆ ของประเทศมาแล้วที่เป็นผู้บริหารอยู่ จะช่วยประชาชนและประเทศแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงสมัยใหม่ทางด้านพลังงานและความมั่นคงทางด้านอาหารตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเร่งด่วนได้อย่างไรและเมื่อไร
บางคำตอบอยู่ในรายการและรายงานข่าวข้างล่างนี้นะครับ
กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/business/1011512
FM 96.5: https://www.youtube.com/watch?v=X_f5azcPAKo