ผู้ตรวจการแผ่นดิน จับมือ กทม. ตระเวนแก้ปัญหาคนกรุง เฟส 2 ลงเขตทวีวัฒนา เตรียมทำบันทึกข้อตกลงร่วมเป็นเครือข่ายแก้เรื่องร้องเสริมความรู้สิทธิเสรีภาพ-การมีส่วนร่วม
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่เขตทวีวัฒนา ร่วมกับ นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา นางสุภมาส เลขาจารกุล ผู้อำนวยการสำนักงานการพัฒนาชุมชน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร นำรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Unit) ออกหน่วยประชาสัมพันธ์ บทบาท หน้าที่ และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินแก่ประชาชนพร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียน ภายใต้โครงการ “ประชาสัมพันธ์เชิงรุกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับกรุงเทพมหานคร” ที่ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต และชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ
นายอิสสรีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้ามายังผู้ตรวจการแผ่นดินหลายร้อยเรื่อง ทั้งเรื่องเล็กรายบุคคล จนกระทั่งเรื่องกระทบในวงกว้าง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานในสังกัด กทม.อย่างดีมาโดยตลอดแต่เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้ตรงจุดและปัญหานั้นได้รับการแก้ไขโดยรวดเร็วตามขอบเขตหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงร่วมมือกับ กทม.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของคนในชุมชนทั้ง 50 เขต ซึ่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เขตสวนหลวง และครั้งนี้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองในเขตทวีวัฒนามีประชากรกว่า 20,000 คน 4,738 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ซึ่งจากการออกหน่วยโมบายรับเรื่องร้องเรียนที่ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต และรับฟังความคิดเห็นของผู้นำชุมชนทั้งแขวงทวีวัฒนา และศาลาธรรมสพน์ รวม 17 ชุมชน ณ ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อนั้น มีผู้ร้องเรียนยื่นขอรับความเป็นธรรม กว่า 10 เรื่อง อาทิ จอดรถกีดขวางการจราจร การดำเนินคดีล่าช้า บางรายยังไม่ได้รับเงินค่าประกันภัยโรคโควิด รวมถึงขอให้เร่งรัดการทำประโยชน์ในที่ดินที่ประชาชนบริจาคให้กับเขตทวีวัฒนาเพื่อสร้างสถานีดับเพลิงโดยเร็ว
ด้าน นายทรงศัก กล่าวว่า เพื่อให้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนเมืองขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขั้นในเร็วๆ นี้ จะมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนและส่งเสริมความรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาโดยรวมที่ส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพจำนวนมาก เช่น การเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนน การเพิ่มโทษ การลงประวัติตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฏหมาย รวมถึงรณรงค์สร้างความสำนึกและวัฒนธรรมอันดีในการขับขี่ยานพาหนะ เช่น หยุดรถตรงเส้นทางข้ามถนน หรือทางม้าลาย
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมหนุนภารกิจของกรุงเทพมหานครและผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน โดยจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครบทั้ง 50 เขต หากชาว กทม. คนใดได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กทม. โทร. 1555 หรือร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยช่องทางที่สะดวกที่สุด คือ โทร.สายด่วน 1676 ฟรีทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนที่อยู่ในเขตพื้นที่ กทม. จะมีเจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการเร่งด่วนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนร่วมกับหน่วยงานสังกัด กทม. ด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากระยะทางไม่ไกล สามารถไปได้ทันที นับว่าเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพทั้งมิติความก้าวหน้าทางสังคมและเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของประชาชนกว่า 10 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร