xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า” วอนนายกฯอย่าฟังข้อมูล “เครือข่ายหมอ” ด้านเดียว สับนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเหลว สวนทาง ตปท.-ทำคนใช้เพิ่ม 4,500%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาสา ศาลิคุปต - มาริษ กรัณยวัตน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้ “เครือข่ายแพทย์ฯ” ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สวนทางงานวิจัยจากต่างประเทศ ทำนายกฯด่วนสรุปแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อ ชี้เกือบ 80 ประเทศปลดล๊อก หรือให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย พร้อมออกมาตรการป้องกันเด็ก-เยาวชนได้ ส่วนการแบนในไทยทำคนใช้พุ่งกว่า 4500% ภายใน 4 ปี เตรียมทำหนังสือชี้แจงส่งให้นายกฯทบทวน

วันนี้ (17 มิ.ย.65) นายมาริษ กรัณยวัตน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” และเฟซบุ๊กเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่หนังสือสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องแบนบุหรี่ไฟฟ้าว่า พวกเราผิดหวังมากที่นายกรัฐมนตรีฟังข้อมูลเพียงด้านเดียวจากเครือข่ายแพทย์ที่รณรงค์ด้านสุขภาพ ซึ่งมีอคติ พูดแต่เรื่องความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของอีกเกือบ 80 ประเทศที่อนุญาตให้คนสูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่ได้ เพราะเห็นว่ามีสารพิษน้อยกว่าควันบุหรี่ และยังสวนทางกับหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำของโลกเช่น อย.สหรัฐอเมริกา สาธารณสุขอังกฤษ สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
นายมาริษกล่าวต่อว่า การศึกษาจากหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASEM) อย.สหรัฐฯ (USFDA) และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งอังกฤษ (RCP) ระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่อย่างมาก ประเทศอังกฤษเลยสนับสนุนให้ใช้เป็นเครื่องมือเลิกบุหรี่ได้ และพบว่าในปี 2019 คนที่สูบบุหรี่ในอังกฤษ 54% เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเลิกบุหรี่ได้ และมีอัตราความสำเร็จที่มากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทนด้วย ขณะที่ในสหรัฐฯมีการศึกษาเมื่อปี 2017 เพื่อประเมินเปรียบเทียบการเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ในช่วงระยะเวลา 10 ปี พบว่าในสถานการณ์ที่ดี (Optimistic Scenario) การเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรลดลง 6.6 ล้านคน และได้อายุขัยกลับคืนมาจากการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถึง 86.7 ล้านปี ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของเครือข่ายแพทย์ฯ ที่บอกว่าค่ารักษาพยาบาลจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท
“การแบนบุหรี่ไฟฟ้าแล้วปล่อยให้คนสูบบุหรี่ต่อไปยิ่งทำให้เสียโอกาสในการรักษาชีวิตคนสูบบุหรี่ปีละ 7-8 หมื่นคนต่อปี และยังทำให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมหาศาลด้วย ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงเลือกควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายแทนการแบน เหมือนที่เราเพิ่งปลดล๊อคกัญชาและนำมาควบคุมเพื่อใช้อย่างเหมาะสม พวกเราไม่เข้าใจว่าเหตุใดประเทศไทยจึงดึงดันที่จะเป็นประเทศส่วนน้อยที่จะแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป” นายมาริษ ระบุ
ด้าน นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันลาสูบอีกราย กล่าวเสริมว่า นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราจะชี้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่านโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทุกวันนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบควบคุมไม่ได้กว่า 4,500% ภายในเวลา 4 ปีจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หาซื้อได้ง่ายออนไลน์ ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หรือตำรวจพยายามจับกุมเท่าไร ก็จับไม่หมด แสดงถึงความล้มเหลวของมาตรการแบน เราจึงไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าต้องแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่ควรหาทางออกหรือแนวทางการควบคุมที่เหมาะสมให้กับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายควบคุมกัญชา ซึ่งตอนนี้ มีหลายหน่วยงานกำลังศึกษาเรื่องการแบนบุหรี่ฟ้า ทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะทำงานของกระทรวงดีอีเอส และในสภาผู้แทนราษฎร อย่างคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา (กมธ.พณ.) และ กมธ.สาธารณสุข
“ดังนั้น ท่านนายกฯไม่ควรรีบฟันธง แต่ให้รอผลการศึกษาอย่างเป็นกลางและเป็นระบบก่อน ที่สำคัญที่สุดคือต้องฟังเสียงของประชาชนผู้ใช้ผู้บริโภคและประเมินนโยบายการแบน 8 ปีที่ผ่านมาว่าล้มเหลวอย่างไร ทำไมคนใช้พุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีการควบคุม ก่อให้เกิดธุรกิจใต้ดิน การรีดไถ การจับกุมผู้ใช้ นักท่องเที่ยว และการทุจริตคอรัปชั่นและป้องกันเด็กเยาวชนได้จริงหรือไม่ ซึ่งพวกเราก็จะทำหนังสือพร้อมยื่นผลการศึกษาและวิธีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศให้กับท่านนายกและทุกหน่วยงานที่ท่านสั่งการเพื่อรับทราบเป็นข้อมูลด้วยเช่นกัน” นายอาสา กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น