วันนี้ (13 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการกรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่ โดยมี นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการบริหารสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมพิธี ณ ห้องทีเค แกรนด์ คอนเวนชั่น ชั้น 6 โรงแรมทีเค พาเลซแอนด์คอนเวนชั่น เขตหลักสี่
โครงการกรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่ เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหมุนเวียนไปยัง 6 กลุ่มเขต จากนั้นจะรวบรวมผลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกรุงเทพมหานคร พัฒนาเป็นแผนของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นต้นแบบของมหานครไร้ควันบุหรี่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
สำหรับในวันนี้เป็นการอบรมบุคลากรและภาคีเครือข่ายในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 262 คน ประกอบด้วย ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาชุมชน ฝ่ายการศึกษา โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อ รอบรู้เรื่องยาสูบ...ภัยร้ายใกล้ตัว การขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในเชิงรุกให้ประสบผลสำเร็จ และการแบ่งกลุ่มออกแบบแผนปฏิบัติการ สร้างเขต...ไร้ควันบุหรี่
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญเพราะสุขภาพของประชาชนเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และผลเสียต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรังและมะเร็ง โดยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะนำสารพิษและสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายโดยตรงและมีความเข้มข้นสูง กรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายในการให้ความรู้กับบุคลากรและประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่อตนเอง รวมถึงเกิดโรคกับบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่ที่พ่นเหลือออกมาจากคนสูบ เรียกว่าบุหรี่มือสอง ส่วนควันบุหรี่ที่เกาะติดอยู่ตามวัสดุและพื้นที่ต่างๆ ผู้ที่ได้รับกลิ่นควันบุหรี่นั้น เรียกว่าเป็นบุหรี่มือสาม ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่เป็นคนสูบบุหรี่ได้อุ้มหรือสัมผัสใกล้ชิด
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความตระหนักสามารถลดและเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการรวมพลังเครือข่าย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ให้เป็นมหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ ประชาชนมีสุขภาพที่ดีต่อไป