หมอรามาฯ งานวิจัยใหม่ พบค่ารักษาพยาบาลจากการสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ของสหรัฐฯ สูงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท มากกว่าภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้เพียง 300 ล้านบาท หรือสูญเสียกว่า 1,500 เท่า ซัดกลุ่มอ้างให้ไทยยกเลิกแบนแล้วจะภาษีเยอะขึ้นไม่เป็นจริง
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ใหม่ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับโลกด้านการควบคุมยาสูบ "Tobacco Control" เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 ซึ่งศึกษาพัฒนาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุ 18 ปีขึ้นไปในสหรัฐฯ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพระดับชาติ (National Health Interview Survey data) ระหว่างปี 2558-2561 ที่เก็บข้อมูลประชากรไว้ถึงเกือบ 120,000 คน แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า และการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลปัญหาด้านสุขภาพเหล่านี้
ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้เพื่อรักษาพยาบาลผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ซึ่งพบมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวถึง 17.5 เท่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท)
"บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อและมะเร็ง หากเปรียบเทียบตัวเลขที่คำนวณได้จากงานวิจัยนี้ กับภาษีที่เก็บได้จากบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ถือว่าเทียบกันไม่ได้เลย เพราะภาษีบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เก็บได้ไม่เกินปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 300 ล้านบาท) เท่ากับความสูญเสียจากบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าภาษีที่เก็บได้ถึง 1,500 เท่า ดังนั้นการที่มีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยมักอ้างว่า การยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า" รศ.พญ.เริงฤดีกล่าว
ดร.เวนดี้ แมกซ์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า การประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้รักษาพยาบาลผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในครั้งนี้อาจจะต่ำกว่าความจริงเพราะยังไม่ได้รวมผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากในสหรัฐฯ จากกรณีการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษา อย่างไรก็ตามตัวเลขความสูญเสียที่คำนวณได้ถือว่าสูงมาก ซึ่งเท่ากับว่าผู้สูบบุหรี่แต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 2,024 เหรียญสหรัฐต่อปี (เกือบ 70,000 บาท)