xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิว กษ.กมธ.งบฯ 66 ถก 1.26 แสน ล.ทุ่มกรมการข้าวเพิ่มจากปีก่อน สร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชนบท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.งบฯ 66 เดินหน้าถกงบ ก.เกษตรฯ 1.26 แสน ล. ทุ่มกรมการข้าวเพิ่มจากปีก่อน กระทรวงยันใช้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชนบท การันตีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่กระทบความมั่นคงในไทย “ยุทธพงศ์” เล็งขยี้งบ ก.พาณิชย์ ต่อ

วันนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แถลงว่า กมธ.งบประมาณฯปี 2566 ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณปี 2566 มาแล้วทั้งหมด 7 วัน รวม 65 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 2 กระทรวง 6 หน่วยงาน 2 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด โดยล่าสุด กมธ.งบประมาณปี 2566 ได้พิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีงบประมาณทั้งสิ้น 126,067,052,900 บาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณ 1,085,703,400 บาท สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร 601,888,700 บาท สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 226,556,500 บาท กรมการข้าว 17,343,325,400 บาท กรมวิชาการเกษตร 3,068,502,800 บาท และกรมหม่อนไหม 525,782,700 บาท

นพ.บัญญัติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มีกรรมาธิการบางคนสอบถามเกี่ยวกับงบประมาณของกรมการข้าว ซึ่งในปี 2566 ได้รับจัดสรรเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก รวมทั้งรายละเอียดงบประมาณของหน่วยงานที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท ในโครงการลดต้นทุนการผลิตว่ามีการจัดสรรไปช่วยเหลือชาวนาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาหรือไม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวนโยบายอย่างไรถึงเพิ่มงบประมาณให้กับกรมการข้าวขึ้นอย่างมาก และบางโครงการมีการผูกพันงบประมาณต่อไปอีก ประมาณ 8-10 ปี เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ งบประมาณ 49,706,000 บาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการถึง 8 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2562-2569 หากหลังจากที่กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก หน่วยงานมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอย่างไร เพื่อรับประกันได้ว่าเกษตรกรจะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและได้รับจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพราะเกษตรกรมักจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเมล็ดข้าวจนต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวในราคาแพง ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวชี้แจงว่า เดิมรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุน เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ใช้งบประมาณจํานวนมาก แต่เป็นการช่วยเหลือแบบให้อุดหนุน ดังนั้น หน่วยงานจึงได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า หากหน่วยงานได้รับงบประมาณในส่วนนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชนบทน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานจะได้นำงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรด้วยตัวเอง และคาดว่าจะลดต้นทุนได้ประมาณ ไร่ละ 300 บาทเศษ และมีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง โดยงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาท ลงไปให้ เกษตรกร 5 พันตำบล ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์ละ 3 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร สำหรับปลูกข้าว การเตรียมดิน และ การแปรรูป ตามความต้องการของแต่ละศูนย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและสร้างความยั่งยืนให้กลุ่มเกษตรกร โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง ร่วมพิจารณาโครงการ

ขณะที่ นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณ จํานวน 601,888,700 บาท กมธ.งบประมาณปี 2566 ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าทางการการเกษตรในหลายประเทศ จนทําให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกขาดแคลน เช่น ข้าวสาลี ทั้งนี้ มี กมธ.งบประมาณปี 2566 บางคนสอบถามเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกว่าประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารหรือไม่ หากผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่กักเก็บไว้ในประเทศหมดไปนอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าทางการเกษตรจำานวนมาก การที่สินค้าทางการเกษตรขาดแคลนทั่วโลก ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้หรือไม่ และการที่ราคา พลังงานและปุ๋ยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนของเกษตรกร หน่วยงานมีแผนการในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอย่างไร ทั้งนี้ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีอาหารที่เพียงพอต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และมีเพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศแต่ปัญหาที่สำคัญจากสถานการณ์โลกในขณะนี้ มี 3 ประเด็น 1. ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก หน่วยงานใช้ของเหลือใช้ในประเทศ เพื่อทดแทนอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ข้าวสาลี 2. ต้นทุนด้านพลังงาน มีการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพซึ่งเป็นของเหลือทางการเกษตรมาผลิตพลังงานใช้ 3. ต้นทุนการขนส่ง โดยหน่วยงานกำลังจะร่วมมือกับหลายประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามในวันนี้ที่ประชุมกมธ.งบประมาณปี 2566 จะพิจารณา 9 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อจนถึงเวลา 16.00 น. วันนี้ (17 มิ.ย.)

ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กล่าวว่า กมธ.ฯยังได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพง และเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ คือ ปัญหาปุ๋ยแพง ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท 1 ตัน ราคา 30,000 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ต้นทุนการผลิตสูงจะมาอ้างเพราะน้ำมันแพงเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ เพราะเป็นกันทั้งโลก และปัญหาเกิดขึ้นก่อนมีสงคราม ขณะที่ปัญหาหมูแพง ราคา 230 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้อาหารที่ผลิตจากหมูจำหน่ายราคาสูงขึ้น ทุกวันนี้กินต้มเลือดหมูราคา 70 บาท และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ขึ้นราคาเช่นกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อหาช่องทางลดราคา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย ต้องมีการเจรจากับสมาคมผู้ผลิตปุ๋ย เรื่องหมูแพงก็ต้องลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือเจรจาให้ราคาลดลง

นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนอาหารทางภาคอีสาน เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมาทำให้นาข้าวเสียหาย ประกอบกับโควิดทำให้สูญเสียรายได้ จะนำร้านธงฟ้าไปช่วยก็ไม่พอเพียง เพราะเดือดร้อนกันทั่วประเทศ รวมทั้งการส่งออกก็มีปัญหา ทั้งที่ค่าเงินบาทกำลังอ่อนตัวลง นายจุรินทร์ จะมีมาตรการอย่างไรที่จะตรวจสอบ หรือรับผิดชอบ ดังนั้น ในการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ในสัปดาห์ถัดไปก็จะมีการซักถามปัญหาที่มีร้องเรียนเหล่านี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น