เลขาสภาพัฒน์ฯ-โฆษกรัฐบาล เผย "ประยุทธ์" เคาะ ขยายมาตรการลดค่าครองชีพปชช. สั่งรีดค่ากลั่นน้ำมัน เข้ากองทุน - ช่วยลดเบนซิน 1 บาท ต่อลิตร ทันที จ่อชงเข้าครม. สัปดาห์หน้า พร้อมเล็งชงมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่ม
วันนี้ (16มิ.ย.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายกุลิศ สมบัติศิริ ร่วมกันแถลงมติที่ประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ว่า เห็นชอบให้ขยายเวลา มาตรการช่วยเหลือประชาชนบางส่วน ที่ใกล้หมดอายุในเดือนมิถุนายนนี้ ออกไปอีก 3 เดือน ไปจนถึงเดือนกันยายน เช่น มาตรการส่วนลด NGV สำหรับแท็กซี่ และส่วนลด LPG สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ส่วนมาตรการที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ ขอความร่วมมือ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไร ส่วนหนึ่งจากการกลั่นน้ำมัน เข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท ต่อเดือน ซึ่งจะนำเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน คาดว่าจะได้ 1 พันล้านบาท ต่อเดือน ส่วนนี้จะนำมาลด ราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้ทันที คาดว่าจะลดลงลิตรละ 1 บาทจากราคาปัจจุบัน
นอกจากนี้จะขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซ แบ่งกำไรส่วนเกิน 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน น่าจะจัดเก็บได้ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยว นอกเหนือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. โดยจะเสนอให้บริษัทเอกชน ที่นำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองรอง สามารถหักลดหย่อนภาษีได้2เท่า ส่วนในเมืองหลักสามารถลดหย่อนได้ 1.5 เท่า ขณะที่การจัดงานอีเวนท์ในต่างจังหวัด นิติบุคคลจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคมถึง 31 ธันวาคม 2565 และยังมีมาตรการที่จะขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาในที่ประชุมครม. สัปดาห์หน้า ที่ 21 มิถุนายน 2565
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (16 มิถุนายน 2565) เวลา 15.25 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบของประชาชนอันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้หารือมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนิน 10 มาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว ซึ่งบางมาตรการใกล้จะครบอายุของมาตรการ โดยที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มของปีนี้ ที่เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 6.2% แต่แนวโน้มทั้งปีเศรษฐกิจยังคงจะเติบโตได้จากการเปิดภาคการท่องเที่ยว แต่ปัญหาหลักในวันนี้คือราคาพลังงานและค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยบางส่วนเป็นเบื้องต้น ดังนี้
การต่ออายุในส่วนของมาตรการที่ใกล้จะหมดอายุ เช่น การให้ความช่วยเหลือเรื่องก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถแท็กซี่ การให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซแอลพีจีสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ที่จะต่อถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565
มาตรการเรียกเก็บกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมัน ที่กระทรวงพลังงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการอุดหนุนราคาดีเซลและราคาก๊าซต่าง ๆ ที่ประมาณการ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนจะมีสถานะกองทุนติดลบอยู่ที่ 9 หมื่นกว่าล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานขอความร่วมมือจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนหนึ่งที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันแพงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพื่อเป็นการช่วยเหลือกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม ถึงกันยายน 2565 โดยเป็นการเก็บจากการกลั่นน้ำมันดีเซลส่วนหนึ่งประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาทต่อเดือน และเรียกเก็บจากการกลั่นน้ำมันเบนซิน ที่จะเรียกเก็บน้อยกว่าดีเซล ซึ่งคาดว่าจะเก็บในส่วนของเบนซินได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยในส่วนของเบนซินจะนำมาลดราคาให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันทีทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คาดว่าจะลดราคาได้ประมาณ 1 บาทจากราคาปัจจุบัน แต่ในส่วนของการกลั่นที่เก็บได้จากน้ำมันดีเซลจะนำเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยบรรเทาสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบอยู่
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการขอความร่วมมือจากโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุนแอลพีจีที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ที่มีกำไรส่วนเกินอยู่ส่วนหนึ่ง โดยกระทรวงพลังงานจะขอให้นำกำไรส่วนเกินนี้ 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน คาดจะนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอขอความร่วมมือภาคเอกชน โดยเฉพาะห้างร้านต่าง ๆ ได้ช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยจะมีการจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 มิถุนายนนี้
ขณะที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เป็นมาตรการเชิงภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาในประเทศสำหรับบริษัทเอกชนที่เป็นนิติบุคคลต่าง ๆ หักรายจ่ายสำหรับค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าเดินทาง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับอบรมสัมมนาในประเทศ รวมถึงค่าจัดงาน Event/Exhibition เมืองรอง หักภาษีได้ 2 เท่า เมืองหลัก หักภาษีได้ 1.5 เท่า ระยะเวลาตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565 โดยมาตรการดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป /