xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.งบฯ 66 มอบ ก.ทรัพย์ แม่งานแก้ช้างป่ารุกที่ แนะใช้แบริเออร์แยกตั้งหน่วยเฉพาะกิจผลักดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก กมธ.งบประมาณ 66 แถลงให้ กระทรวงทรัพย์ เป็นแม่งานแก้ปัญหาช้างป่ารุกที่ แนะใช้แบริเออร์แยกพื้นที่กับชาวบ้าน ตั้งหน่วยเฉพาะกิจผลักดันกลับสู่ป่า ย้ำ ต้องได้รับความร่วมมือทุกภาคส่วน

วันนี้ (14 มิ.ย.) นายบัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กล่าวว่า ในการพิจารณางบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 2,255,109,700 บาท ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาช้างป่ารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตรของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากว่าสิบปีในกลุ่มป่าภาคตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น และกลุ่มป่าภูเขียวน้ำหนาว เป็นต้น พบว่า มีช้างป่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 หรือราว 4,000-5,000 ตัว จากเดิมที่มีประมาณ 3,000 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินศักยภาพป่า ส่งผลทำให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทำกินของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ถึงต้นปี พ.ศ. 2564 ที่อำเภอวังจันทร์ และอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง มีผู้เสียชีวิตจากภัยคุกคามจากช้างป่าถึง 7 ราย จะเห็นได้ว่า ปัญหาช้างรุกล้ำเข้าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน เป็นภัยความมั่นคงทางชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมื่อช้างป่าบุกรุกพื้นที่ของเกษตรกร จะส่งผลให้พืชผลต่างๆ ของประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่มาตรการชดเชยและเยียวยาเกษตรกรของภาครัฐ กลับไม่มีความสอดคล้องกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กรณีเสียชีวิตก็ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ประชุม กมธ. มีข้อเสนอให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แยกเขตพื้นที่หากินของช้างป่า และเขตพื้นที่ทำกิจของประชาชนออกจากกัน โดยมีสิ่งกีดขวาง หรือแบริเออร์ที่แข็งแรง มีประสิทธิภาพ และควรตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าให้ออกจากพื้นที่ทำกิน กลับสู่ป่าอนุรักษ์ เรียกว่า แบริเออร์มนุษย์

โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักระดับจังหวัด เพื่อรับผิดชอบบูรณาการกับทุกหน่วยงานในระดับจังหวัด อาทิ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคม และภาคประชาสังคม เป็นต้น ในการดูแลแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ เช่น การจัดชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า การจัดหาอาสาสมัคร การจัดเวรยาม และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าในพื้นที่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมด้วย

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาช้างป่ารุกล้ำเข้าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ประชุม กมธ. วิสามัญงบประมาณ จึงให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป และหากเป็นพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช หรือกรุมป่าไม้ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น