xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชูเงื่อนไขปรับโฉมรับเลือกตั้ง “ชวน” จี้ปราบ จนท.ทำไม่ชอบ ช้าหวั่นเป็นองค์กรกลั่นกรองรั่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภาฯ ร่วมเสวนาวันครบรอบสถาปนา กกต. เตือนพบ จนท.ทำไม่ชอบต้องรีบปราบปราม หากช้าหวั่นกลายเป็นองค์กรกลั่นกรองรั่ว ด้าน “แสวง” เผย 3 เงื่อนไขปรับโฉม กกต. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

วันนี้ (9 มิ.ย.) สำนักงาน กกต.จัดเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 24 ปี โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า งาน กกต.คือ งานที่ทำการเมืองให้ดี แต่ลำพัง กกต.มีคนเพียง 2,500 คน ทำไม่สำเร็จแน่ถ้าไม่ได้ร่วมคิดร่วมทำกับคนไทยทั้งชาติ หวังว่า ขึ้นปี 25 เราจะร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน ซึ่งการทำการเมืองให้ดีมี 3 หลัก คือ 1. การสร้างพลเมือง 2. การทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน และ 3. การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม กกต. และสำนักงานฯจะทำให้การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ หมายความว่าการเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การเลือกตั้งครั้งหน้าเงื่อนไขที่จะเห็นชัดขึ้นมี 3 เงื่อนไข คือ 1. ต้องโปร่งใส เลือกตั้งที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการปิดบังอะไร แต่ประชาชนสงสัย ซึ่งการแข่งขันอย่าให้คนสงสัย เพราะถ้าคนสงสัยในกรรมการไปไม่รอดแน่ ตอนนี้สภากำลังออกกฎหมายให้ กกต.นำคะแนนขึ้นระบบคอมพิวเตอร์ภายใน 72 ชั่วโมง แต่เราคิดก่อนกฎหมายจะออกว่าเราต้องแก้โจทย์เรื่องความโปร่งใสนี้อย่างไร

2. ความรวดเร็วได้แล้ว เห็นได้จากการเลือกตั้ง กทม. เมื่อก่อนใช้เวลาพอสมควร แต่ขณะนี้ กกต.มีนโยบายที่จะให้การประกาศผลเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายด้วย 3. การมีส่วนร่วม เราจะทำให้การเลือกตั้งเป็นของประชาชน โดยอาจจะขยายความร่วมมือไปมากกว่าเดิมเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ

“เชื่อว่า การเมืองตั้งครั้งต่อไปจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทั้งความรวดเร็ว โปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ที่ผ่านมา สังคมจะมองเข้ามาที่เราด้วยแรงเสียดทานต่างๆ แต่เราก็ปรับตัว แต่ที่ปรับไม่ได้คือความถูกต้องตามกฎหมาย และเราให้สัญญาว่า กกต. และสำนักงานฯจะทำงานให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของประชาชน

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเสริมสร้างเสถียรภาพและธรรมาภิบาลทางการเมือง” ว่า พูดในฐานะคนที่อยู่ในการเลือกตั้ง ในวงการเมืองมานาน 54 ปี แล้วยังไม่แพ้เลือกตั้ง ตนคนที่ลงเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2512 จนบัดนี้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 จนถึงฉบับที่ 2560 ขอให้กำลังใจ กกต. เพราะในประสบการณ์คนลงเลือกตั้ง ได้ผ่านกระบวนการของผู้ที่ทำหน้าที่บริหารการเลือกตั้ง ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ วันนี้แม้จะมีองค์กร คือ สำนักงาน กกต.แล้ว ก็ยังอยากให้ความสำคัญกับคน คนในที่นี่คือนับตั้งแต่กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ค่อยห่วง เพราะกฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างเคร่งครัด แต่ในสำนักงานฯมีบุคลากรถึง 1,987 คน ถือว่าไม่น้อย เราใช้เงินงบประมาณปีหนึ่งเกือบ 1,700 กว่าล้านบาท หลายคนมองว่าระบบเดิมน่าจะดีกว่า อีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าองค์กรใหม่เป็นอิสระไม่เป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง แล้วแน่ใจหรือว่าจะเป็นแบบนั้นเสมอไป ไม่ใช่เราจะวางใจได้ทุกองค์กร ไม่ใช่เฉพาะ กกต. แต่ทุกองค์กร เพราะสุดท้ายแม้กลไกเงื่อนไขจะดีก็ตาม แต่ถ้าบุคคลมีปัญหา ก็จะมีปัญหา อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็ล้วนประกอบด้วยคนทั้งสิ้น และต้องการคนดีทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม มันจะมาลงท้ายว่า กฎเกณฑ์ที่ดี คนที่ดี อันไหนสำคัญกว่ากัน ในสังคมเราไม่ต่างกันในที่สุดเราก็คิดว่าเรามีรัฐธรรมนูญปี2540 ที่ดีแต่มันเกิดวิกฤตปี 40 ก็เพราะคนที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองด้วยหลักกฎหมาย มันโยงกันได้ว่าทั้งคนและกฎหมายมีความเกี่ยวข้องกัน ถ้าคนใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ กติกา ปัญหาก็ตามมา

“ในยุคที่ตนลงเลือกตั้งครั้งแรกมันไม่มีคำว่าซื้อเสียง 100, 200 บาท มันไม่มี จะชัดก็เห็นจากที่มีนักเลงมีการเลี้ยงเหล้า ผมจำได้ไปเดินหาเสียงชาวบ้านขอเหล้าผมไม่ให้ แต่หนักสุดในสมัยนั้นคือ ส.ส.ปลาทูเค็ม เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นักธุรกิจส่งปลาทูเค็มไปแจกที่ศรีสะเกษแล้วก็ได้เป็น ส.ส.ปลาทูเค็ม จากนั้นก็ไม่มีอะไร เพราะสถานการณ์ขณะนั้นมันไม่มีสิ่งจูงใจให้คนต้องลงทุน เพราะใครมาคิดเล่นการเมืองก็เหมือนคนคิดสั้น ซึ่งผมก็เลือกที่จะรอรัฐธรรมนูญปี 40 เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง จะเห็นว่าหลายเรื่องเกิดขึ้นจากการเป็นนักการเมืองทั้ง เด็กมีเงินกู้ กยศ. เด็กได้กินนม ผู้สูงอายุมีเบี้ย รักษาฟรีเด็กผู้ใหญ่ มีกองทุนหมู่บ้านที่ยากจน สิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่เรามีนักการเมืองที่มาจากประชาชน ฉะนั้น สิ่งนี้จึงมาคู่กันระหว่างการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรม”

นายชวน กล่าวว่า ประเทศต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย แต่เราต้องแยกให้ออกระหว่างเสถียรภาพของการเมือง กับนักการเมือง พูดง่ายๆ ว่า รัฐบาลควรจะมีเสถียรภาพจึงจะสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหามากเกินไป แต่นั่นไม่ได้หมายถึงเสถียรภาพของประเทศ เพราะเสถียรภาพของการเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการระบบนี้มีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ พูดง่ายๆ ว่า เสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจึงมาจากสภาที่เป็นเสียงข้างมาก ถ้าสภาที่มาจากเสียงข้างมากมาจากระบบการเลือกตั้งที่มั่นคง ถูกต้องยุติธรรม เราจะได้รัฐบาลที่มาจากความชอบธรรม พูดง่ายๆ อีกว่าถ้าเราได้นักการเมืองที่ไม่โกง ไม่ทุจริตการเลือกตั้งรัฐบาลก็จะได้คนที่มาจากการไม่โกงไม่ซื้อเสียง แต่ถ้ารัฐบาลมาจากนักการเมืองที่ซื้อมาโกงมาเราจะได้รัฐบาลโกง แล้วรัฐบาลชุดนั้นจะทำอย่างยุติธรรมได้หรือ เสถียรภาพบ้านเมืองจะไปได้หรือ

นายชวน กล่าวอีกว่า เรามีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 ปี แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแนวมีทั้งบวกและลบตลอดเวลา ซึ่งมีความหลากหลายของนักการเมืองและมาจากระบบที่ไม่เหมือนในอดีต เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำกับ กกต.ว่า เราต้องให้ความสำคัญกับตัวแทนขององค์กรเราในต่างจังหวัดอีกพันกว่าคนว่าถ้าเราได้ตัวแทนของเราที่มีปัญหาก็ยากนักที่เราจะทำภารกิจเลือกตั้งยุติธรรมสำเร็จ คนนั้นอาจจะไปหาผลประโยชน์ร่วมกับนักการเมือง แต่เชื่อว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของกกต. แต่ก็ต้องให้ความสำคัญและจัดการ ไม่เช่นนั้นด่านที่จะกรองจะกลายเป็นว่ากรองของรั่ว กรองแล้วกรองสกปรก แล้วแบบนี้จะเป็นตัวกรองของดีได้อย่างไร อย่างในท้องถิ่นเราต้องยอมรับความจริงว่า แพงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน แต่ใช่ว่าระดับท้องถิ่นจะเป็นแบบนั้นเสียหมด แต่เราจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมโดยไม่ได้ต้องแก้ไข ปราบปราม นั่นมันจะเป็นการส่งสัญญาณว่าคุณมาอย่างไรก็ได้ ในที่สุดคนที่จ่ายเงินก็ชนะไป เราคงไม่ต้องการคนที่จ่ายเงินแล้วมาเอาคืน แต่เราต้องการคนที่มาจากประชาชนและไม่เอาคืน แต่ทำงานคืนประชาชน บ้านเมืองเรามีคนดีเยอะมีคนไม่ซื้อตำแหน่ง ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ดังนั้นตนขอให้กำลังใจ กกต. เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเลือกตั้งในต่างจังหวัดทั่วประเทศขอให้ยึดความชอบธรรม ถูกต้อง นั้นคือสิ่งที่คนดีดีต้องการ 




กำลังโหลดความคิดเห็น