ท่ามกลางลุ้นความเสี่ยง-ปลุกความหวังประชาชน พร้อมใจโทร. กดดัน ดัน #กกตเป็นเหี้ยอะไร สู่เทรนด์ทวีตอันดับ 1 หลังประกาศเลื่อนรับรองผู้ว่าฯ แม้ต้องฝ่าขวากหนาม ความไม่เป็นธรรม พร้อมพิสูจน์ ในตำแหน่งเส้นทางผู้ว่าฯ กรุงเทพฯคนใหม่!?
ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สู่ฝัน ผู้ว่าฯ อิสระทุกจังหวัด
“ขอบคุณทุกคนสำหรับทุกคะแนนเสียงที่ให้มา รวมถึงทุกคะแนนเสียงที่ไม่ได้ให้ด้วยในฐานะตัวแทนของผู้สมัครทั้ง 31 คน จากนี้เมื่อ กกต. รับรอง ก็ก้าวเดินต่อไป ผมจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของทุกคน ดูแลทุกคนเหมือนกัน”
นี่คือ คำพูดของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลัง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ประกาศรับรอง เป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้กล่าวขอบคุณ และมีความเชื่อว่า จะเป็นจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของทุกคน พร้อมพิสูจน์เดินไปด้วยกัน ไม่มีความแตกต่างกัน
โดยก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่า เป็นที่น่าจับตามอง และสร้างความแคลงใจไม่สิ้นสุด เมื่อ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก.เขตหนองจอก ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงออกจากพื้นที่สาธารณะ ตามที่ กกต. กำหนดภายใน 3 วัน หลังจากเลือกตั้ง ซึ่งถือได้ว่ามีความผิด
ส่งให้คนลุ้นว่า กกต. จะไม่ประกาศรับรอง “ชัชชาติ” รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนเกิดเป็นข้อพิพาททางสังคมถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ พร้อมดัน #กกตเป็นเหี้ยอะไร ขึ้นเทรนด์ทวีตอันดับ 1
ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนผุดแคมเปญผ่าน Change.org เชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อถอดถอน ศรีสุวรรณ จรรยา ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อการกระทำที่ไปร้องเรียนในเรื่องที่ไม่ควรจะร้องเรียน ซึ่งเป็นการลดความเจริญก้าวหน้า และสร้างความแตกแยกของสังคมไทย
หลังสอบเรื่องทั้งหมดแน่นอนว่า การประกาศครั้งนี้สร้างความหวังคนกรุง ที่เทคะแนนเลือก เพื่อจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีให้กลับคืนมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเดียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ช่วยวิเคราะห์ทิศทางของผู้ว่าฯคนใหม่ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ดูแลชีวิตคนกรุงให้ดียิ่งขึ้น
จนเกิดความตื่นตัวปรากฏการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” ประชาชนโทร.ไปรุมถาม กกต. จนสายไหม้ ถึงการเลื่อนการรับรองผู้ว่าฯ ที่ดูไม่เป็นธรรมในครั้งนี้
“แน่นอนว่า คือ มีการตื่นตัวทางการเมือง ที่ผมคิดว่ามันตื่นตัวมาก ซึ่งมันส่งผลต่อในการเลือกตั้งที่เกิดในกระแส กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จนเกิดแคมเปญที่หลายจังหวัด หลายบุคคลที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ
ซึ่งตรงนี้ จะไปกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างหลักราชการไทย ที่ผู้ว่าฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นกระแสใหญ่มาก เรื่องที่ 2 คือ กำหนดนโยบาย เป็นสัญญาประชาคม หลักจากนี้ จะเกิดการติดตามนโยบายอย่างเข้มข้นแน่
คนที่อาจจะไม่เลือกเขา หรือคนที่ได้จากการเปลี่ยนแปลง อาจจะยกระบบตัวเองจากประชาชนปกติ ไปสู่พลเมืองที่มีความตื่นตัวต่างๆ เยอะมาก
ตอนนี้สเต็ปแรกผ่านแล้ว กกต.รับรองแล้ว ตอนนี้ก็เข้าสเต็ปที่ 2 ก็จะอยู่ในกระบวนการใช้อำนาจ อ.ชัชชาติ ก็ต้องใช้อำนาจที่มาจากประชาชน ทำตามสัญญาประชาคม คือ นโยบาย บริหารให้เกิดความโปร่งใส บริหารให้เกิดความพึงพอใจกับประชาชนคนกรุงเทพฯ มากที่สุด ตามสัญญาประชาคม เพื่อไปสู่หลักการที่ 3 คือ ผลประโยชน์ของประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแห่งความหวัง และการตื่นตัว เพราะทุกคนอยากจะเห็นตัวผู้นำ ตัวผู้บริหารที่มาจากการเลือกของประชาชน และมีความคาดหวังต่อว่าหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว จะทำนโยบายตามสัญญา เพื่อที่จะสร้างอนาคตร่วมกันกับคนกรุงเทพฯ
และที่สำคัญ สร้างความหวังให้คนทั้งประเทศ ที่อยากจะเห็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ผู้นำที่อยู่กับปัญหา สามารถกำหนดวาระสำคัญจากปัญหามาสู่นโยบาย เป็นสัญญาประชาชน การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งความหวัง ที่มันสะท้อนความหวังของคนทั้งชาติครับ”
ถูกต้อง-ถูกใจประชาชน แต่ไม่ถูกใจ กกต.?
สำหรับปรากฏการณ์การเลื่อนการรองรับในครั้งนี้ ก็มีความคิดเห็นทวงถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานที่ได้ไม่โปร่งใส่ เพราะอยากสกัดว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ ที่ครองใจประชาชน ไม่ให้แจ้งเกิดบนเวทีการเมืองหรือไม่…
“ยอมรับว่า กกต. ภาพลักษณ์ตกต่ำมาก ในการบริหารการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันไม่ได้แสดงแค่วันนี้ มันสะสมมาหลายๆ กรณีที่ กกต.ขาดความเชื่อมั่น แล้วสังคมก็ติดตามตลอด”
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญรายเดิม เปิดมุมมองให้ฟังว่า หากในครั้งนี้ ทาง กกต.ไม่รองรับด้วยเหตุผลร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงผ้าไวนิล ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม จะทำให้เกิดเหตุการณ์การขัดแย้งของประชาชน ระหว่างหลักการที่ผิด กับเสียงมติมหาชน และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนจะไม่เหมือนเดิมยิ่งขึ้นอีก
“ผมรู้สึกคลายความกังวลใจครับ ผมกลัวว่าถ้ามีการให้ใบเหลือง ใบแดง แล้วมีเหตุผลในทางกฎหมาย แล้วคนในกลุ่มหนึ่งไม่ยอม เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่าตอนนี้ในการเมืองไทย มันเป็นการเมืองที่ทุกคนรู้ว่าอยู่ในบรรยากาศไม่ปกติ มันอาจจะมีอำนาจนอกระบบ อำนาจของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองนอกระบบ คอยกำกับควบคุมอยู่
ซึ่งตรงนี้มันจะทำให้เกิด conflict (การขัดแย้ง) ใหญ่ ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นการประเมินความรู้สึกของประชาชนด้วย ว่า ถ้าไม่ตัดสินไปในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ หรือมันผิดข้อร้องเรียน
ผมคิดว่า ข้อร้องเรียนไม่ได้สะท้อนเจตนาที่แท้จริง ต่อกระบวนการเรื่องว่าผิดหรือไม่ผิด มันไม่เหมือนการซื้อเสียง หรือคอร์รัปชัน ที่มีประจักษ์หลักฐานที่มากพอ เลยทำให้คนเขารู้สึกว่ามีความพิกล
แต่ข้อร้องเรียนนี้ ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก อย่างการดูถูกดูแคลนระบบข้าราชการ แล้วถามว่า ระบบราชการมันเฮงซวยจริงรึเปล่า มันต้องยอมรับความจริงถูกไหม
หรือเรื่องป้ายหาเสียงมารีไซเคิล เป็นการไม่ได้สัญญาว่าจะให้ ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่หลังจากเลือกตั้งจบสามารถนำเอาไปใช้ต่อเพื่อประโยชน์ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปตีความเกินความจริงไป เหตุผลมันไม่ได้ แล้วถ้า กกต.รับเหตุผลแบบนี้ ปัญหาก็จะเกิด เพราะถ้าต้องทำอยู่ในเหตุผล บนหลักการกฎหมายที่ถูกต้อง”
ทว่า ในสายตาของประชาชน ผู้ว่าฯ คนใหม่ ที่สะท้อนเป็น “บวก” มากกว่า “ลบ” ดูได้จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะเขามีทั้งศักยภาพ และเป็นกันเองกับผู้คนที่เจอ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์กับวิธีทำงานใหม่ๆ พร้อมยืนเคียงข้างประชาชน ที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง
จนเรียกได้ว่า กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สะเทือน และกำลังท้าทายชุดความคิดเดิมๆ ให้ต้องรีบปรับตัวกันขนานใหญ่ ก่อนที่จะไม่มีพื้นที่ให้ยืนอีกต่อไป ซึ่งบทพิสูจน์นี้ แน่นอนว่าก็ต้องติดตามทิศทางในอนาคตต่อไป
สกู๊ปข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **