xs
xsm
sm
md
lg

“สันติ” จี้ทบทวนดอกเบี้ยนโยบายแก้เงินเฟ้อ แนะต้องบริหารด้วยเหตุผล อย่าห่วงผลกระทบการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สันติ” รอง หน.สร้างอนาคตไทย โพสต์ถามมีรัฐบาลไปทำไม หลังปล่อยเงินเฟ้อกระฉูด ฉุดข้าวของแพง ระบุไม่ขึ้นดอกเบี้ยหวั่น ศก.ไม่ฟื้นตัว แค่ข้ออ้าง ถ่างความเหลื่อมล้ำ ทำร้ายคนส่วนใหญ่อย่างรุนแรง จี้ “คลัง-ธปท.” ประสานทำงาน บริหารด้วยเหตุผล อย่าห่วงแต่ผลกระทบการเมือง

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าและเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเป็นห่วงถึงภาวะเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นถึง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงว่า เงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. 65 เท่ากับ 106.62 สูงขึ้น 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงาน และอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และหากพิจารณากลุ่มอาหารกลุ่มเดียว ก็จะพบว่า ราคาสูงขึ้นถึง 6.18% และยังสรุปว่า เดือน มิ.ย. 65 นี้ อัตราเงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มขยายตัว แปลความง่ายๆ ว่า ข้าวของที่เราเห็นว่าแพงในขณะนี้ ยังจะแพงต่อไปอีก

นายสันติ ระบุต่อว่า ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุม ต้องจับตาดูว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น กนง.ได้พยายามชี้แจงว่า ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้น จะเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น และจะปรับตัวดีขึ้น จึงจะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

“ผมได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูงนั้น อัตราเงินเฟ้อหรือพูดง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านว่า ข้าวของแพงขึ้นนั้น จะทำร้ายคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างรุนแรง เพราะความเหลื่อมล้ำในระดับสูงนั้น แสดงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่มาก ข้าวของแพงขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงมากเกือบ 100% ของ GDP อย่างในขณะนี้นั้น รัฐบาลและ ธปท. จะมีการทำงานสอดประสานกันอย่างไรเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้”



นานสันติ ระบุอีกว่า คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ และเป็นสิ่งที่นโยบายการคลัง โดยรัฐบาล คือ กระทรวงการคลัง และนโยบายการเงิน โดย ธปท. ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่อย่างไร นอกเหนือจากประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ไม่ได้ในภาวะอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรุนแรงอย่างนี้แล้ว ยังมีคำอธิบายทางวิชาการเพิ่มขึ้นอีก กล่าวคือ การศึกษาเชิงประจักษ์ (empirical study) ที่มีมากมายในโลกนี้ ชี้ให้เห็นว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่อย่างไร

“คำอธิบายเรื่องการไม่ทำอะไรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเกรงว่าจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชะงักงันลงไป จึงไม่เป็นเหตุผลทางวิชาการที่เหมาะสม” นายสันติ ระบุด้วยว่า แม้ ธปท.จะพยายามอธิบายว่า ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น (เป็น cost push หรือเป็นปัญหาด้านอุปทาน) ไม่ใช่เป็นเพราะปริมาณสินค้าและบริการที่คนต้องการบริโภคสะสม (pent up demand) มาจากการปิดเมือง หรือพูดเป็นภาษาวิชาการว่าเป็นเงินเฟ้อจาก demand pull แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ไม่ว่าข้าวของแพง หรือเงินเฟ้อจะเริ่มต้นด้วยด้านอุปสงค์หรืออุปทานก็แล้วแต่ แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน (คือ demand pull and cost push) จะผสมโรงกันกันเป็นเกลียวคลื่น (spiral) เพิ่มความรุนแรงของเงินเฟ้อหรือของแพงไม่หยุด อันเนื่องมาจากคนทั่วไปจะคาดหวังว่าของจะแพงขึ้น จึงต้องจัดการกับตัวเอง เช่น เร่งกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ดังจะเห็นจากตัวอย่างของการเข้าคิวยาวที่ปั๊มน้ำมันในช่วงเย็นของวันก่อนที่ราคาน้ำมันจะขึ้น เพื่อเติมน้ำมันรถให้เต็มถัง เมื่อคาดว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นพรุ่งนี้

“ปรากฏการณ์อย่างนี้ จึงต้องบอก policy maker ว่า ท่านต้องเร่งจัดการกับ inflation expectation หรือการคาดการณ์ภาวะข้าวของแพง ไม่ใช่ปล่อยให้ข้าวของแพงแล้วบอกว่า เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง เพราะในที่สุด เกลียวคลื่นของเงินเฟ้อ (spiral inflation) อันเกิดจากการผสมโรงของทุกสาเหตุจะช่วยกันทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายลง และกลายเป็นไฟลามทุ่งไปทั่ว คือ ข้าวของแพงทุกหมวด”

นายสันติ ระบุต่อไปว่า ผู้บริหารเศรษฐกิจต้องบริหารทั้งความคาดหวัง และบริหารสถานการณ์จริง โดยต้องพยายามไม่ให้เกิดปัญหา หากเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ต้องพยายามจำกัดวงของปัญหาไม่ให้ขยายวง (contain problem) และต้องพูดความจริงกับประชาชน ไม่ใช่สร้างความคาดหวังปลอมๆ หลอกประชาชนไปวัน ๆ เดี๋ยวปัญหาต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเอง ซึ่งการหลอกประชาชนไปวัน ๆ นั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แล้ว ยังสร้างคำถามจากภาคประชาชนด้วยว่า แล้วเราจะมีรัฐบาลไปทำไม

“ขอเรียกร้องให้ท่านผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินก็ตาม ต้องเร่งทำงานประสานกันให้เป็นเนื้อเดียว ต้องบริหารด้วยเหตุผล ไม่ใช่บริหารด้วยความกังวลใจทางการเมือง เพราะในเวลานี้ ไม่ใช่เวลาปกติ เป็นเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่สามารถปล่อยปละละเลยอย่างที่เป็นอยู่อย่างขณะนี้ได้” นานสันติ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น