xs
xsm
sm
md
lg

“เทพมนตรี” ฟันธง “ทักษิณ” ไม่ได้กลับไทย “ดร.อานนท์” ถามเจ็บ ตั้งคนปั่นหุ้นเป็น “ทีมงาน” บกพร่องโดยสุจริต?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร กับ อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก ว่าที่แคนดิเดตนายกฯหญิง พท. จากแฟ้ม
ฟังทางนี้! “เทพมนตรี” ฟันธง “ทักษิณ” ไม่มีทางได้กลับไทย ต่อให้มี “นายกฯหญิง” เพื่อไทย “ดร.อานนท์” ถามเจ็บ! ทีม “ชัชชาติ” เอี่ยวปั่นหุ้น บกพร่องโดยสุจริต? “3 นิ้ว” เฮเก้อ! ศาลไม่ให้ประกัน 2 สาวทะลุวัง ทำผิดซ้ำ

ภาพ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม จากแฟ้ม
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 มิ.ย. 65) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ขออนุญาตปรับปรุงเพื่อนใหม่ หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และเตรียมรับเพื่อนใหม่เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ถ้าเราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงในนามพรรคเพื่อไทย แต่ทักษิณจะไม่มีวันกลับเมืองไทยได้ครับ” (จากสยามรัฐออนไลน์)

ภาพ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน จากกรณีเพจสถาบันทิศทางไทย-Thai Move Institute โพสต์ข้อความระบุ ว่า หึ่ง...คนที่ ก.ล.ต.ชี้มีความผิดฐานร่วม “ปั่นหุ้น” และถูกปรับ 7 ล้าน ปรากฏชื่อร่วมทีมชัชชาติ

ทันทีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเก้าอี้ก็ออกหนังสือแต่งตั้งทีมงานขึ้นมาทันที ซึ่งก็เป็นธรรมเนียบปฎิบัติทั่วไป ไม่มีอะไรน่าแปลกใจสำหรับคนทำงานสายนี้เลย แต่มาสะดุดที่ชื่อของ หนึ่งในคณะ “ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ท่านหนึ่ง “นางสาวศนิ”

นางสาวศนิ ไม่เพียงเป็นผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเป็น 1 ใน 13 ก๊วนปั่นหุ้น ที่ถูก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” สั่งลงโทษในฐานะ “สร้างราคาหุ้น” หรือที่รู้จักกันในนาม “ปั่นหุ้น”

อันเป็นความผิดตามมาตรา 243 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 317/4(1) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิด 13 ราย โดยกำหนดให้ชำระค่าปรับทางแพ่งดังนี้ [...]

(4) นางสาวศนิ จำนวน 7,746,735 บาท

ทั้งนี้ การที่ ค.ม.พ. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบุคคลจำนวน 12 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็น “ผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน”

ซึ่งเรื่องนี้นั้น มีลงประกาศในเว็บไซต์ข่าวของ ก.ล.ต. เอง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...ปั่นหุ้นเป็นการบกพร่องโดยสุจริตหรือไร?

อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณี น.ส.ศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เคยถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง พร้อมกับพวกรวม 13 ราย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 กรณีสร้างราคาหุ้น “เกียรติธนา ขนส่ง” หรือ KIAT ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาท ระหว่างวันที่ 4-2 ธ.ค. 57 ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดเมื่อปี 57 ทราบว่า น.ส.ศนิ โดนสั่งปรับเท่านั้น ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิดในการร่วมลงทุนซื้อขายหุ้น

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ได้มีการตรวจสอบประวัติของทีมงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง น.ส.ศนิ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่มีหน้าที่ประสานงานเท่านั้น จึงมั่นใจว่า ทำงานได้อย่างแน่นอน

ภาพ ใบปอ และบุ้ง จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความว่า เวลา 14.53 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้ง #บุ้ง เนติพร และ #ใบปอ โดยเห็นว่า จำเลยทั้งสองคนเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่ผิดเงื่อนไขประกัน หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

ก่อนหน้านี้ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา หนึ่งในแกนนำม็อบสามนิ้ว โพสต์เฟซบุ๊กว่า ใบปอ และ บุ้ง ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ทำให้มีคนเข้ามาคอมเมนต์ดีใจเป็นจำนวนมาก แต่ภายหลัง น.ส.วรรณวลี ได้โพสต์อีกครั้งว่า ศาลยกคำร้อง ไม่ให้ประกันตัว #ขออภัยในข่าวที่ผิดพลาดครับ

แน่นอน, ทุกประเด็นล้วนน่าสนใจ และสังคมกำลังจับตามอง

แต่ที่น่าสนใจเหนืออื่นใด ก็คือ การออกมาฟังธงอย่างชนิดไม่ต้องอธิบายให้มากความของ นายเทพมนตรี ว่า แม้จะได้นายกฯหญิงจากพรรคเพื่อไทย (ตามที่มีกระแสข่าว) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่ได้กลับไทย

เพราะเหตุใด ที่น่าไล่เรียงก็คือ คดีที่มีโทษติดตัว “ทักษิณ” และที่กำลังอยู่ในระหว่างฟ้องศาล ประกอบด้วย

1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และ นายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551

โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดี นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่า ไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน

ปัจจุบันคดีหมดอายุความแล้ว

2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

ศาลเห็นว่า กรณีนายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

4. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ป เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

ศาลเห็นว่า นายทักษิณ ดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย

ยกฟ้อง 2 คดี

5. คดีกล่าวหาว่า อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI

ศาลฎีกาฯยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้องตามเดิม

6. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่า เป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือนายทักษิณ

อีก 2 คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่

7. คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม รวมถึงชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวนายทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และน้องสาวของนายทักษิณด้วย

8. คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

โดยปรากฏชื่อของนายทักษิณ อดีตนายกฯ นายสุริยะ อดีต รมว.คมนาคม และ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม 3 นักการเมืองชื่อดังเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ดี 2 คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์...

ดังนั้น ถ้าว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม และหากไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทุจริต นายทักษิณจะกลับไทยเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่มารับโทษที่ยังไม่ขาดอายุความ และสู้คดีอีกมากที่อยู่ในศาล แต่ถามว่า นายทักษิณ จะกล้าหรือไม่? คำตอบมีมานานแล้ว!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น