“ยิ่งลักษณ์” ยังปากเก่ง จำนำข้าวเจ๊ง 7 แสนล้าน ไม่สำนึก ซัด “รัฐบาลประยุทธ์” ก่อหนี้พุ่งถึง 4.4 ล้านล้าน “นักวิชาการ” ชี้ชัด “หนี้” ที่ต้องชำระ 5.5 แสนล้าน เหน็บ “บิ๊กตู่” ไม่พูดหนี้ตนเองก่อขึ้น “หมอวรงค์” เตือนความจำ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 มิ.ย. 65) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ระบุว่า
“จากที่คุณประยุทธ์ชี้แจงในการอภิปรายงบประมาณปี 2566 และได้มีการพาดพิงรัฐบาลดิฉัน ว่า ต้องใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวไปแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท รู้สึกได้ทันที ว่า เป็นคำกล่าวหาเดียวกับที่เคยใช้มาเมื่อหลายครั้ง ซึ่งดิฉันก็ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ตามลิงก์นี้ค่ะ https://www.facebook.com/.../a.20100121.../4413336935377394/
ดิฉันจึงอยากขอฝากอะไรไว้ให้เป็นแง่คิดระหว่างพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ว่า แม้รัฐบาลดิฉันถูกโจมตีอย่างหนัก ว่า “สร้างหนี้” ทั้งๆ ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่เพียง 45.91% แต่หลังรัฐประหารผ่านไป 8 ปี หนี้ได้พุ่งขึ้นไปที่ 60.58% โดยรัฐบาลคุณประยุทธ์ จัดทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้นๆ ทุกปี
หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนการก่อหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไร้ยุทธศาสตร์ของการเพิ่มรายได้ ผิดหลักการที่ต้องใช้เงินกู้เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และเมื่อขณะนี้ประชาชนไม่มีรายได้เพิ่ม หนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณลง
ดิฉันจึงขอตั้งคำถามไว้ว่า การที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายของรัฐบาลคุณประยุทธ์ เป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าวหรือบริหารงานไม่เป็น หากมองย้อนกลับไป ดิฉันก็ยังคงภูมิใจที่ได้บริหารประเทศภายใต้หลักการที่เพิ่มเงินในกระเป๋าให้พี่น้องประชาชน พร้อมกับสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น จนสามารถประกาศว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลได้ในปี 2560 แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งและความหวังของประชาชนได้แม้แต่น้อยค่ะ”
ขณะเดียวกัน นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง หนี้จำนำข้าว จริงหรือไม่?
ระบุว่า มีเพื่อนสอบถามมาเยอะว่า สิ่งที่นายกฯ กล่าวในสภาเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับหนี้จำนำข้าวเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน? ถ้าจะตอบสั้นๆ ก็มีทั้ง “จริง” “ไม่จริง” และ “พูดไม่หมด”
ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นกันที่คำกล่าวของนายกฯ กันก่อน ส่วนที่นายกฯ กล่าวในสภา คือ
“ถ้าพูดเรื่องข้าวที่พูดว่างบวันนี้เป็นงบในอดีตไม่ใช่อนาคต ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โครงการจำนำข้าว ขาดทุนกว่า 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลนี้ตั้งงบชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้น และดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท เงินตรงนี้ถ้าอยู่เอามาทำอะไรได้อีกเยอะ ถามว่าใครทำเอาไว้ ผมก็ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะย้อนกลับ”
คราวนี้ เรามาดูข้อเท็จจริง 10 ประการ จากงบการเงินประจำไตรมาส ล่าสุด ของ ธ.ก.ส. งวดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (หรือปลายปีที่แล้ว) และเอกสารร่างงบประมาณประจำปี 2566 กัน
ในรายงานงบการเงินฉบับดังกล่าวระบุว่า
หนึ่ง การจำนำสินค้าเกษตรทุกประเภท ตั้งแต่ปี 2551-2557 ใช้เงินไป 960,665.35 ล้านบาท ย้ำว่า “ใช้เงินไป” ไม่ใช่ “หนี้” อย่างที่นายกฯ กล่าว
สอง เมื่อใช้ไปแล้ว หากมีการไถ่ถอนหรือขายผลผลิตออกไป เงินนั้นก็จะกลับเข้ามานะครับ ซึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เงินนั้นกลับเข้ามาแล้ว 403,508.36 ล้านบาท ครับ
สาม เพราะฉะนั้น ส่วนที่ขาดทุน และเหลือเป็น “หนี้” ที่ต้องชำระจริงๆ คือ 557,157 ล้านบาทครับ
(ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับ แต่ตัวเลขที่นายกฯ กล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องครับ)
สี่ จาก 557,157 ล้านบาท รัฐบาลมีการโอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไปแล้ว 276,462 ล้านบาท ไม่ใช่ 781,000 ล้านบาท อย่างที่นายกฯ กล่าว
ผมเข้าใจว่า นายกฯ เอาตัวเลขที่ไถ่ถอน/ขายผลผลิตไปรวมด้วย จึงได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเกินจริงเช่นนั้น
ห้า หนี้ที่เหลือคงค้างอยู่จึงเหลือประมาณ 280,694 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่นายกฯ กล่าว
หก ในปีงบประมาณ 2566 นี้ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณชำระหนี้ส่วนนี้อีก 26,649 ล้านบาท ซึ่งถ้าตั้งชำระในอัตรานี้ คาดว่า หนี้จากจำนำข้าวน่าจะอยู่กับระบบงบประมาณไปอีกกว่า 10 ปี
เจ็ด สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวก็คือ ในช่วงเวลา 2-3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 รัฐบาลปัจจุบัน (ไม่นับรวมรัฐบาล คสช.) ได้สร้างหนี้เพิ่มจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว และอื่นๆ อีกอย่างน้อย 247,250 ล้านบาท
ขอย้ำว่า นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึง “หนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อ 247,250 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี เลย”
แปด จากหนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรและอื่นๆ 247,250 ล้านบาท รัฐบาลตั้งชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ในปีงบประมาณ 2566 นี้ 44,212 ล้านบาท
เก้า เมื่อรวมทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มูลหนี้จากนโยบายรัฐบาลที่รัฐบาลติดค้าง ธ.ก.ส. ไว้ในปัจจุบัน เท่ากับ 887,831.3 ล้านบาท
สิบ ถ้านำเงินเกือบ 900,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ไว้ มาเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า หนี้ดังกล่าวเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566
นี่คือ สิ่งที่ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรียกว่า ระบบงบประมาณแบบ “ช้างป่วย”
สรุปสั้นๆ สุด (ก) หนี้จำนำข้าวมีอยู่จริง (ข) แต่ไม่ได้มากที่ประยุทธ์กล่าว (ค) ที่สำคัญ ประยุทธ์สร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก เท่าๆ กับหนี้จำนำข้าวที่เหลืออยู่เดิม (ง) ประยุทธ์ไม่กล่าวถึงหนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อขึ้น (จ) ประยุทธ์โทษแต่คนอื่น (หรือรัฐบาลที่ผ่านมา)
เราไม่อาจยอมรับ “รัฐบาลที่ไม่บอกความจริงให้ครบถ้วนได้อีกต่อไป” มิฉะนั้น ประเทศจะป่วยยิ่งกว่านี้
#คว่ำงบประมาณประจำปี 2566
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ “หมอวรงค์” หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า
“อภิปรายงบประมาณถึงโกงจำนำข้าว
“ตั้งแต่ปี 54 โครงการจำนำข้าว ขาดทุน 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลชุดนี้ ตั้งงบประมาณชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท”
นี่คือ คำพูดของ นายกฯ พลเอก ประยุทธ์ สวนฝ่ายค้านหมอชลน่าน กรณีกล่าวหาตั้งงบประมาณส่อโกง และวันนี้คนโกงจำนำข้าวติดคุกนับสิบคน รวมทั้ง นายบุญทรง นายภูมิ เสี่ยเปี๋ยง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ แต่หนีไปอยู่ต่างประเทศ
มีหลายท่านให้ผมช่วยสรุปอีกที เพราะลืมกันแล้ว และอยากให้ลูกหลานได้เข้าใจ
บทสรุปโครงการนี้ ปัญหาคือการโกง เป็นโครงการทุจริตที่มากที่สุด และใช้เงินภาษีประชาชนมากที่สุด และต้องตั้งงบประมาณใช้หนี้กันยาวนาน โดยโกงกันทุกขั้นตอน
1. โกงต้นน้ำ คือ ช่วงที่ชาวนาเอาข้าวเปลือกเข้าโครงการ ต้องนำข้าวเปลือกมาที่โรงสี ชาวนาจะถูกโกงความชื้น โกงตาชั่ง สิ่งเจือปน มีการสวมสิทธิใบประทวน มีการนำข้าวเขมร พม่า ลาว มาใช้สิทธิ แต่เอาเงินภาษีคนไทยจ่าย
2. โกงกลางน้ำ เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่เก็บเป็นข้าวเปลือก ให้สีเป็นข้าวสารไปเช่าโกดังกลางเก็บ แทนที่จะนำข้าวสารดีๆ ไปเก็บ แต่จ่ายเงินให้บริษัทตรวจคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) เอาข้าวสารเสื่อมคุณภาพ ข้าวเหลือง ข้าวเน่าไปส่งแทน บางที่กลายเป็นนั่งร้านซุกในกองข้าว
3. โกงปลายน้ำ คือ การโกงช่วงการระบายข้าว ก็อุปโลกน์ว่าระบายแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน แต่กลายเป็นจีทูจีทิพย์ ข้าวไม่ได้ขายให้รัฐบาลจีน ไม่ได้ส่งออกไปต่างประเทศ แต่มีการนำข้าวนี้มาเวียนเข้าโครงการจำนำข้าวนี้อีกรอบ
โครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นมหากาพย์การโกงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่บริหารโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ภายใต้ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ แต่รัฐมนตรีบุญทรง รัฐมนตรีภูมิติดคุก ส่วนยิ่งลักษณ์หนี
มีบางคนพยายามเอาเรื่อง ที่ศาลปกครองกลางไม่ต้องให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ ค่าเสียหายจำนำข้าว แล้วเอามาบิดเบือนว่ายิ่งลักษณ์ไม่ผิดนั้น ไม่จริงนะครับ
เรื่องชดใช้หนี้ ที่ศาลปกครองกลางตัดสิน เป็นเรื่องทางแพ่ง ต้องรอศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง แต่ที่แน่ๆ การปล่อยปละละเลยโดยทุจริต ซึ่งเป็นคดีอาญา ศาลฎีกานักการเมืองตัดสินว่า ผิดแล้ว ถูกจำคุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์จึงต้องหนีไปต่างประเทศ
นี่คือ บทสรุปการโกงของทักษิณคิด เพื่อไทยทำ เอามาทวนความจำ และให้ลูกหลานได้เรียนรู้ และเข้าใจ เพราะตอนเกิดเหตุเขาอาจจะยังเด็กอยู่ครับ”
แน่นอน, เป็นอีกครั้งที่มหากาพย์ “จำนำข้าว” ถูกหยิบยกขึ้นมาฟาดฟันกันทั้งในภา นอกสภา อย่างดุเดือด
ประเด็นสำคัญ คือ ข้อเท็จจริงที่พูดถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้” ที่เป็นภาระนับ 10 ปี แม้จะเป็นความจริง แต่ถูกแฉว่า ตัวเลขเกินไป และมีผลกระทบต่องบประมาณที่เป็นเงินภาษีประชาชนในการชดใช้จริง รวมทั้ง “โกงจริง” ซึ่งมีทั้งคำพิพากษาคดีถึงที่สุด และรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องติดคุกหลายปีอยู่ในเวลานี้
และแม้แต่ “ยิ่งลักษณ์” เอง ก็กำลังหนีโทษจำคุกอยู่ในต่างประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกย้อนเกล็ดอย่างเจ็บแสบ ถึงหนี้ที่รัฐบาลตัวเองก่อขึ้นอย่างมหาศาล พอๆ กับหนี้จำนำข้าว แต่ก็ไม่พูดถึงแม้แต่น้อย
ทั้งหมดเป็นการเอาความจริงที่พูดไม่หมดมาตอบโต้ “ทางการเมือง” ซึ่งกันและกัน และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกมการเมืองโหดร้ายแค่ไหน เพียงเพราะต้องการเอาชนะ การเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น เป็นสิ่งที่ทำได้หน้าตาเฉย หรือไม่!?