xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๊น” ของบ ร.ร.ทุรกันดาร ชี้จัดแบบค่าใช้จ่ายเป็นรายหัว ปัญหาคุณภาพการศึกษา จี้ลดเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จิตภัสร์” ขอ รบ.จัดงบให้เด็กใน ร.ร.ทุรกันดาร ชี้ นโยบายจัดสรรงบดูแลด้านการศึกษา แบบ “ค่าใช้จ่ายเป็นรายหัว” ตัวปัญหาต่อคุณภาพการศึกษาที่ดี ยก ร.ร.ตชด.มีความพร้อมพัฒนาคุณภาพเด็กยากจน แนะ กมธ.พิจารณาสนองนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (2 มิ.ย.) น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เรื่อง ความเสมอภาคทางการศึกษา ว่า ตนขอส่งเสียงแทนเด็กๆ ในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง มีความรู้คู่จริยธรรม เพื่อที่จะให้เด็กๆ เหล่านั้น ได้มีโอกาสเติบโตขึ้น เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ ความพร้อมทางด้านการศึกษา ที่ส่งผลต่อความพร้อมของการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะการศึกษาดีจะนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ดี ซึ่งหมายถึง สุขภาพ อารมณ์ สติปัญญา แต่ความยากจนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดโภชนาการที่ดี และขาดการดูแลจากครอบครัว เพราะต้องดิ้นรนทำมาหากิน ดังนั้น เด็กยากจนจึงขาดพัฒนาการที่ดีและเมื่อเข้าสู่วัยเรียนเด็กๆ เหล่านี้ก็มีโอกาสมากที่จะเรียนไม่จบแม้จะเป็นเพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น รวมทั้งขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีอีกด้วย

น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า จากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีเด็กนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า
1,300 บาทต่อคนต่อเดือน สูงถึง 1.3 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับจำนวนประชากรในเขตอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และ ตรัง และมีอัตราส่วนของครู 1 คน ต่อนักเรียน 19 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโลกถึงสองเท่า และโรงเรียนประจำซึ่งต้องดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครู ตชด.จะต้องอยู่กับเด็กนักเรียนตลอดเวลา ในถิ่นทุรกันดาร ทำงานหนักกว่า 4 เท่า จึงเกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสม ปัจจัยที่กล่าวมานี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของครูและส่งผลตรงต่ออนาคตของลูกหลานเราทั้งสิ้น

ประเทศไทยมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับการบริหารจัดการโรงเรียนเพื่อดูแลด้านการศึกษา โดยคิดจาก “ค่าใช้จ่ายเป็นรายหัว” ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสร้างปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา เพราะเกือบครึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน และได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่ามาก จึงเกิดภาระให้ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องไปหาเงินจากแหล่งอื่น เพื่อให้การบริหารงานและจัดการศึกษาดำเนินต่อไปได้ตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาระหนักที่เกินความจำเป็นของครูและส่งผลลบรวมถึงกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของลูกหลานของเรา

เมื่อระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างคุณภาพให้เด็กนักเรียนในกลุ่มยากจน เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า 2 ใน 3 ของแรงงานที่มาจากครอบครัวยากจนจะเป็นแรงงานราคาต่ำ ซึ่งเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเป็นที่มาของวงจรแห่งความยากจนที่ไม่จบสิ้น

น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาน เพื่อระดมกำลังทั้งสินทรัพย์และสติปัญญาเพื่อหาวิธีและแนวทางในการแก้ไข พบว่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นเสมือนห้องวิจัยเคลื่อนที่ที่จะผสานความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ครู ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และ ประชาชนผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสร้างลูกหลานในถิ่นห่างไกลให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีชีวิตที่มั่นคง ยั่งยืน เป็นเด็กไทยยุคใหม่ ที่จะพาพ่อแม่หลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจน แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและลดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากคณะกรรมาธิการให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ในการพิจารณา ปรับลดงบประมาณเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น