xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ. เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ เร่งพาน้องกลับมาเรียน พร้อมดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมสมรรถนะของผู้เรียน การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความปลอดภัยภายในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงมีสุขภาพดี

ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายผลักดันโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นนโยบายแก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบ เพื่อคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบต้องเป็นศูนย์ และได้มอบหมายให้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เร่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องให้การศึกษากับผู้เรียนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เรียนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาระดับมัธยมศึกษา การศึกษาระดับอาชีวศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย จึงได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา "พาน้องกลับมาเรียน" โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทั้ง 12 หน่วยงาน จนสามารถตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้มาเข้าเรียนทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565

ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สรุปสถิติการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดพบว่ามีจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่หลุดจากระบบ 67,132 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-18 ปีอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยติดตามตัวพบแล้ว 49,538 คน กำลังติดตาม 5,689 คน และกลับเข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้ว 21,573 คน สำหรับสถิติจำนวนนักเรียนที่สามารถตามกลับมาได้มีสาเหตุที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป เช่น จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์เข้าเรียนต่อ มีความจำเป็นทางครอบครัว ผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่พอเพียง หรือได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ เป็นต้น ส่วนนักเรียนที่ไม่สามารถติดตามได้มีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น ย้ายถิ่นที่อยู่ มีความจำเป็นทางครอบครัว หรือระบุสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งหลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 แล้ว สพฐ. ได้ประชุมกับผู้รับชอบโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อติดตามการแก้ปัญหาและการส่งต่อผู้เรียนว่ามีการดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน หรือมีปัญหาอุปสรรคใดในการปฏิบัติงานบ้าง รวมถึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ไปค้นหาวิธีการพาน้องกลับมาเรียนที่ทำได้ดีเยี่ยม โดยจะนำมาเป็นต้นแบบให้เขตพื้นที่อื่นๆ ได้ดำเนินการต่อไป

โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นการป้องกันเด็กออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพทุกคน โดย สพฐ. พร้อมให้การส่งเสริมเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาอย่างน้อยจนจบการศึกษาภาคบังคับ และได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อการมีอาชีพมีงานทำต่อไป

อีกหนึ่งนโยบายที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาเปิดภาคเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบ On-Site ในห้องเรียนปกติด้วยแล้ว ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้กับนักเรียนและบุคลากรทางศึกษามากขึ้น โดยเรื่องความปลอดภัยได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแรกใน 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะหากสถานศึกษาไม่มีความปลอดภัยแล้ว จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้แก่ผู้เรียนได้ และยังส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของไทย รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา สพฐ. ได้พัฒนาระบบการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ใช้ชื่อว่าศูนย์ “MOE SAFETY CENTER” โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นแอปพลิเคชันในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย และได้พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการให้มีความรู้ มีความเข้าใจในการใช้งานระบบ เพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่มีผลต่อนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ 2) ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 3) ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ 4) ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ ซึ่งความเสี่ยงความไม่ปลอดภัยเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดรวมถึงให้ความสำคัญกับการอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ มีทักษะที่จะนำไปสื่อสารกับเด็กในวัยเรียน ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างความปลอดภัยแบบคู่ขนานกัน

สำหรับการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยผ่านศูนย์ MOE SAFETY CENTER สามารถแจ้งเหตุได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ แอปพลิเคชัน MOE Safety Center, เว็บไซต์ http://www.MOESafetyCenter.com, แอปพลิเคชัน LINE @MOESafetyCenter หรือที่ Call Center 0 2126 6565 ซึ่งทาง สพฐ. ได้ขยายแนวทางปฏิบัติงาน ช่วยให้ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยง และความรุนแรง แก้ไขได้ถึงแหล่งต้นตอของปัญหา มีการติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรมและโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย โดยมีการรายงานการแก้ไขปัญหาแบบ Real-time ที่สำคัญได้เก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษาและด้านความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ เพื่อขยายผลในการป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้อีกด้วย

โดยที่ผ่านมามีผู้แจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยกับทางศูนย์ MOE SAFETY CENTER ทั้งในส่วนของภัยทะเลาะวิวาท ภัยจากยานพาหนะ ภัยไซเบอร์ ภาวะทางจิต ยาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ การล่อลวง ภัยจากอาคารเรียนหรือสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งทุกกรณีได้มีการติดตามตรวจสอบทันที กรณีใดที่ยังไม่แล้วเสร็จก็จะมีการติดตามความคืบหน้าและการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยกรณีที่ร้ายแรง เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การล่อลวง จะเป็นกรณีที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หากมีครูถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด จะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งหากพบว่าผิดจริง ก็จะมีการลงโทษขั้นรุนแรงตามระเบียบของข้าราชการอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก 8 กระทรวง และ 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการลงนามความร่วมมือในโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้านในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ สิ่งที่ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไปก็คือ การนำเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่หลุดออกนอกระบบ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา และพัฒนาครูที่เป็นหัวใจสำคัญอยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด ให้เป็นครูที่มีคุณภาพ ทำให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ตลอดจนยกระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อก้าวสู่ประเทศไทยยุคดิจิทัลที่มีขีดความสามารถแข่งขันทัดเทียมระดับนานาชาติได้






กำลังโหลดความคิดเห็น