xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แจงจัดงบตามความท้าทายโลก พลังงาน สิ่งแวดล้อม Smart Farmer ร่วมมือต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ชี้แจงจัดสรรงบประมาณทุกด้านตามความท้าทายโลก พลังงาน สิ่งแวดล้อม Smart Farmer เดินหน้าความร่วมมือกับต่างประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหา ขอให้คนไทยร่วมมือกัน


วันนี้ (2 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (2 มิ.ย.) เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรีได้วางยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตโดย เรื่องอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) การตั้งเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจไทย

โดยในภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษ ร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก โดยมีแผนระยะสั้น และระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร ได้ดูแลด้านการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืชที่เหมาะกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสูงต่อพื้นที่หลายชนิด นอกจากนี้ รัฐบาลได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่า ต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่ในภาคการเกษตรและอาหาร

รัฐบาลถือว่าภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเป็นการสร้าง “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ Smart Farmer ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน เช่น เกษตรกรใช้เทคโนโลยีมาควบคุมการปลูก ทั้งการให้น้ำ ให้ปุ๋ย เฝ้าดูการเจริญเติบโตขของพืช แม้แต่ช่วยเลือกเวลาที่เหมาะสมในการรับแสงแดด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจ BCG ยังเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม (Soft Power) “5F” คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย มาสร้าง “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก ส่วนที่สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาที่ต่างจังหวัดนายรัฐมนตรีก็เห็นด้วย

ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่อยู่ในรูปภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้ เรื่องกำลังคนก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลได้วางหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาแรงงาน การเตรียมคน สร้างคนรุ่นใหม่ โดยจะเน้นในเรื่องของสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกมาเปิดสาขาสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลายแห่งแล้ว มีการปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่การพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของคนภายในประเทศ ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ ต้องใช้เวลา

ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญๆ แบบพหุภาคี นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก”
(1) การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในวันประวัติศาสตร์ เมื่อ 25 ม.ค. 2565 หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี โดยเริ่มเกิดความร่วมมือในการเปิดประเทศ เพื่อท่องเที่ยวไปมาหาสู่กันในทุกระดับอีกครั้ง-การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และแรงงาน-การลงทุนและร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น
(2) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยนายกฯ ญี่ปุ่น มาเยือนไทย ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค. 2565 เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือใหม่ๆ เช่น การผลักดันให้ไทยเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก-การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G - การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนใน EEC เป็นต้น โดยเมื่อวานได้พบกับ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และวันนี้ก็จะมีภารกิจร่วมกันอีก ซึ่งลาวได้นำนักธุรกิจจำนวนมากมา นายกรัฐมนตรีพร้อมคุยกับทุกประเทศ รวมทั้ง ACMECs

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 190 กว่าประเทศของโลกที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องการบินที่ได้แก้ไขปัญหา ICAO ไปแล้ว การค้ามนุษย์ IUU ประมงผิดกฎหมาย ก็สามารถแก้ไขได้แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายอย่างได้ถูกแก้ไขในรัฐบาลนี้ และล้วนเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ทั้งหมด นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพราะมองที่ประชาชนเป็นหลัก โดยทุกอย่างยึดตามขั้นตอน อะไรที่สามารถจัดสรรให้ได้ก็จะดำเนินการให้ ซึ่งที่ผ่านมา ในหลายจังหวัดก็ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มโดยใช้งบกลาง ซึ่งยืนยันว่าตรวจสอบได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะนายกรัฐมนตรีนึกถึงประชาชนและคำนึงถึงกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันต่อไป และสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราจะต้องธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักแห่งชาติ เราต้องรักษาสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สอนให้ได้เรียนรู้ สิ่งใดไม่ดีเราก็อย่าไปทำ อะไรที่ดีก็ขอให้สานต่อ เป็นความเป็นไทยที่เราจะต้องภูมิใจไปด้วยกัน ไม่อยากให้เกิดความขัดเเย้ง ซึ่งขอให้มองในหลายมิติ หลายเรื่องก็มีประโยชน์ที่รัฐบาลพร้อมรับฟังและจะปรับแผนให้เหมาะสม ยืนยันทุกอย่างทำดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่ตั้งไว้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วยใจจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น