อดีตโฆษก ปชป. กางข้อกฎหมาย PDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เซลฟี-วงจรปิด ติดคนอื่น ทำได้ ไม่สร้างความเสียหาย-เพื่อความปลอดภัย จับตาหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ศาลวางบรรทัดฐานอย่างไร
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ้ก เรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองคนหรือคุ้มครองใคร มีเนื้อหาระบุว่า วันนี้ 1 มิ.ย. 65 เป็นวันเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบคุคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA หลังจากที่เลื่อนมา 2-3 ปี ทำให้หลายคนวิตกกังวล เพราะมีผู้รู้ออกมาให้ความเห็นกันเยอะ ไม่รู้จะเชื่อใครดี อธิบายสั้นๆ ง่ายๆ กฎหมายนี้ต้องการบังคับ “ผู้ควบคุมข้อมูล” ที่เก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผย “ข้อมูลส่วนบุคคล” ให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัวโดยต้องขอความยินยอมจาก เจ้าของข้อมูลก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน/เดือน/ปีเกิด และสถานที่เกิด, เชื้อชาติ, สัญชาติ, น้ำหนัก, ส่วนสูง เลขประจำตัวทุกชนิด เช่น บัตรประชาชน, หนังสือเดินทาง, บัตรเครดิต, อีเมล, หมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น รูปภาพใบหน้า, ลายนิ้วมือ, ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน, ทะเบียนรถยนต์
คำว่า “ผู้ควบคุมข้อมูล” หมายถึงบุคคลหรือนิติบุคคลหรือรัฐ ที่มีส่วนในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และคำว่าบุคคลถ้าตีความอย่างละเอียดแล้ว ย่อมหมายถึงบุคคลอย่างเราๆ ทั่วไปด้วยถ้ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไว้ ก็ถือว่าเราเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ด้วยเช่นกัน ส่วนที่หลายคนวิตกกังวลว่า ถ้าถ่ายภาพ ถ่ายคลิป โดยมีบุคคลอื่นติดอยู่ในเฟรมด้วย แล้วนำไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียล หากเจ้าตัวเขาไม่ยินยอมจะผิดหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ผิดเพราะมีข้อยกเว้นถ้าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวเท่านั้น อย่างไรก็ตามถ้าเจ้าของภาพต้องการให้ลบภาพเขาออกก็ต้องลบให้ หรือกรณีที่ติดกล้องวงจรปิดไว้ที่บ้าน โดยไม่มีป้ายแจ้งเตือน จะมีความผิดหรือไม่ กล้องวงจรปิดถือเป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ถ้ามัวไปติดประกาศให้คุณโจรทราบก่อนก็ไม่รู้จะป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการติดกล้องวงจรปิดที่บ้าน สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องติดป้ายแจ้งเตือนใดๆ สรุป พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของตนจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิดหรือถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
“หลังจากนี้ ก็ต้องดูการบังคับใช้กฎหมาย ของกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำคือศาลยุติธรรมที่จะต้องตีความกฎหมายเพื่อวางหลักให้กับสังคม หลักกฎหมายเขาให้ดูกันที่เจตนา จะละเมิดหรือผิดกฎหมายหรือไม่ให้ดูเจตนาในการนำไปใช้หรือเปิดเผยเป็นหลักครับ” นายเชาว์ ระบุ