ถกสนั่นกฎหมาย PDPA ถ่ายรูป-คลิปติดคนอื่น = ผิดกฎหมาย ใช้ชีวิตลำบาก? กูรูวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย รักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ท่ามกลางข้อพิพาท อาจตกเป็นเหยื่อนักเรียกร้องเงิน ก่อนใช้จริง!?
ถ่ายรูป-อัดคลิปติดคนอื่น = ผิดกฎหมาย?
กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เมื่อกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection ActB.E. 2019) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกาศใช้ 1 มิ.ย.นี้
ก่อนหน้านี้ ได้ถูกหยิบยกมาพูดในรายการโหนกระแส กรณีการนำภาพในมือถือของ “แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” นักแสดงสาว ผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่ และทำข่าว จนเกิดข้อสงสัยว่ามีใครที่มีความผิด และผิดข้อกฎหมายไหนบ้าง
อย่างไรก็ดี อ.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นผู้ที่ได้มาพูดประเด็นนี้ในรายการ ได้ชี้แจงข้อมูลไว้ว่า การบันทึกภาพติดผู้อื่น และนำไปแชร์โดยไม่มีการขออนุญาต หรือไม่เบลอหน้า ก็ผิดกฎหมายแล้ว
“เราต้อง concern รูปส่วนบุคคล สมมติเราขึ้นรถไฟฟ้า แล้วถ่ายรูปสาวคนนึงมาลงเฟซบุ๊กไม่ได้แล้วนะ หลังวันที่ 1 เป็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล…
ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ถ้าระบุตัวตนคนนั้นได้ ถือว่า มีความผิดเลย เช่น คุณหนุ่มมีรหัสไปรษณีย์ที่บ้าน ถ้ารหัสไปรษณีย์หลุดก็ไม่ผิด เพราะคนแถวนั้นมีรหัสไปรษณีย์นี้หมดเลย มันระบุตัวคุณหนุ่มไม่ได้ แต่ถ้าเป็นบ้านเลขที่หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ผมโอนพร้อมเพย์ให้คุณหนุ่ม ชื่อคุณหนุ่มขึ้นเลย อันนี้ข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว”
ขณะที่ เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ หนึ่งในผู้ร่วมรายการเสริมถึงประเด็นการถ่ายบุคคลอื่น
“ในมุมมองผมค่อนข้างแตกต่างจากอาจารย์นิดนึง หลักกฎหมายอาญาดูที่เจตนาเป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าใครเดินผ่านไปผ่านมา เด็กวิ่งผ่านไปผ่านมา หมายถึงว่า เราเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเขา เรามีเจตนาเปิดเผยข้อมูลเขาหรือเปล่า ก็เป็นเหตุสุดวิสัย”
แน่นอนว่า หลังถูกเผยแพร่ออกไป คนโลกโซเชียลฯ สนใจกันมาก และพากันวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสีย บ้างมองมุมกลับ อาจกลายเป็นเครื่องมือ “นักฟ้อง-เรียกร้องเงิน” หรืออาจมีผลต่อบางคดี ที่ถ่ายคลิปไว้ แล้วเป็นหลักฐาน หรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงได้ติดต่อไปยัง “รัชพล ศิริสาคร” ทนายชื่อดัง เจ้าของเพจ “สายตรงกฎหมาย” เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การถ่ายรูป-คลิปติดผู้อื่นไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวเสมอไป
“ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น การถ่ายรูปติดคนอื่น ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวเสมอไป เพราะตามกฎหมายแล้ว คนที่จะทำผิดได้จะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม การถ่ายรูปติดคนอื่น ควรจะขออนุญาต เพราะจะช่วยลดการถูกดำเนินคดีได้
พวกที่เป็นนักฟ้องร้องคดี ต่อให้ไม่มีกฎหมายตัวนี้ เค้าก็ฟ้องร้องกันอยู่แล้ว ดังนั้น กฎหมายตัวนี้คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ทุกคนควรปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว หากใครทำผิดกฎหมายก็ต้องรับโทษ ส่วนผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมายเช่นกัน”
ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อทีมข่าวตรวจสอบพบว่า หากผู้อื่นติดมาในภาพ แล้วนำไปทำให้เกิดความเสียหายนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมี PDPA ก็สามารถฟ้องเอาผิดละเมิดสิทธิได้
โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะประกาศใช้ 1 มิ.ย.นี้ จะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง รวมถึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้น กับบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บข้อมูล รวมถึงการใช้ข้อมูล เพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง
สำหรับ ข้อมูลส่วนบุคคล ตาม PDPA หมายถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้ระบุตัวบุคคลได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, ข้อมูลทางการเงิน, เชื้อชาติ, ศาสนา, พฤติกรรมทางเพศ, ประวัติอาชญากรรม, ข้อมูลสุขภาพ ทว่า ข้อมูลคนตาย ข้อมูลนิติบุคคลไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายนี้
เทียบชัดๆ กฎหมาย PDPA VS กฎหมายสากล
นับว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของประชาชน โดยเฉพาะใน “ยุคดิจิทัล” ที่สามารถเข้าถึงทุกคน นำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคมอีกว่า มีความแตกต่างกับกฎหมายสากลของต่างประเทศอย่างไรบ้าง เพราะอีกหนึ่งสาเหตุ คือ คนไทยยังคงมีความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจแนวคิดในเรื่องของพื้นที่สาธารณะ กับพื้นที่ส่วนตัว
ด้าน ทนายรัชพล ไขความสงสัยไว้ว่า กฎหมาย PDPA จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และควบคุมหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่จะนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องปลอดภัยจากการยินยอม
“ทุกอย่างมีทั้งดีและเสียครับ แต่โดยรวมน่าจะมีผลดีมากกว่า ผลดีคือ สมมติเราไปธนาคาร เขาขอบัตรประชาชนเราไป แล้วเจ้าหน้าที่เอาไปเปิดเผย เราก็อาจจะเอาผิดได้ ส่วนผลเสีย คือ อาจยุ่งยากสำหรับองค์กรที่ต้องรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล
กฎหมายดังกล่าว เป็นการคุ้มครองการจัดเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ การเผยแพร่ข้อมูล ฯลฯ ซึ่งต้องเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล มองได้ว่า เป็นการป้องกันสิทธิของผู้บริโภคหรือประชาชนมากกว่า เพราะจะป้องกันไม่ให้นำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้อย่างไม่มีการควบคุม”
นอกจากนี้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งสิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ไม่เพียงแค่นั้นยังมีสิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย
ทว่า หากมีการการกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
“หากทำผิดรับโทษสูงสุด การทำผิดในข้อกฎหมาย มีหลายลักษณะ อาจต้องดูเป็นกรณีไป แต่มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูล ควรศึกษากฎหมายฉบับนี้ไว้”
สุดท้าย ทนายรัชพล มองว่า กฎหมายฉบับนี้โดยรวมมีผลดี มากกว่าผลลบ แต่อาจจะมีรายละเอียดที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และปฏิบัติได้ถูกต้อง
“กฎหมายมีรายละเอียดเยอะ ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจมีหลายส่วน เช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายรับสมัครงาน ธนาคาร ผู้ที่ให้บริการต่างๆ บางทีมีการขอสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ ควรจะมีที่ปรึกษากฎหมายไว้ เพราะกฎหมายมีรายละเอียดเยอะ หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจถูกดำเนินคดีได้”
โดยหวังในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ซึ่งก็ต้องรอติดตามความคืบหน้าถึงการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลตัวเราเองในอนาคตต่อไป
สกู๊ปโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **