“เพื่อไทย” ซัด รบ.ปรับลดเงินกู้ หวังเลี่ยงการถูกด่า แต่หันไปขูดรีดภาษี รัฐวิสาหกิจ ตั้งเป้า 9 หมื่น ล. หวั่นรัฐวิสาหกิจไม่แคล้วโยนภาระให้ ปชช.รับแทน รีด บ.ขนาดใหญ่ไม่ได้ กลุ่มเอสเอ็มอีคงซวยแทน ชี้ หากรับร่างไปสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัส ควรตีตกปล่อย รบ.ใหม่เข้ามาจัดสรรแทน
วันนี้ (1 มิ.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นวันสอง
น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เราคาดหวังว่า รัฐบาลจะจัดงบประมาณปี 66 เพื่อฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด แต่พบว่าไม่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วยังออกมาเพื่อหารายได้ด้วยการขูดเลือดซ้ำเติมประชาชน ซึ่งในร่างนี้จะเห็นว่ามีรายรับหลักๆ มาจากการจัดเก็บรายได้ และการกู้ โดยรายได้หลักมาจากภาษีอากร และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ในปี 66 รัฐบาลสามารถกู้ได้สูงสุด 7.1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งใจปรับลดเงินกูลงให้เหลือเพียง 6.95 แสนล้านบาท เพื่อให้ตัวเลขดูน้อยกว่าปีที่แล้ว 1 พันล้านบาท แต่เลือกที่จะมาเพิ่มประมาณการรายได้แทน คือ 2.49 แสนล้านบาท เพิ่มมาถึง 9 หมื่นล้านบาท ถือว่าเอาเปรียบประชาชนอย่างมาก ลดเงินกู้เพื่อเลี่ยงการถูกวิจารณ์ จากประชาชนว่าเป็นรับบาลนักกู้ที่เพิ่มจนเต็มเพดาน แต่มาเพิ่มเก้ภาษีรัฐวิสาหกิจและผลักภาระให้ประชาชนแทน ซ้ำเติมที่ยังไม่เห็นแสงสว่างว่าจะฟื้นตัววิกฤตเศรษฐกิจที่หนักสาหัสได้อย่างไร
“จากประมาณการรายรับ รายได้จากภาษี นิติบุคคล 6.7แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นล้าน จากปี 2565 คำถามว่าจะเก็บจากใคร บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทขนาดเล็ก ที่เจอพิษโควิดจนน่วมหมดแล้ว แต่หากรัฐบาลระบุว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้าแน่นอน ก็มีข้อสังเกตว่า การจัดเก็บภาษี 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรที่เอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่มีรายได้เพื่อจ่ายภาษีตามเป้า โดยอาจจะละเลยการสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี และเท่าที่ดูแล้ว หากรัฐบาลทำได้ไม่ตามเป้ากรรมอาจตกมาอยู่กลุ่มเอสเอ็มอี สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก”
นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลจะเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน เดิมจะเก็บภาษีเพื่อกระจายความมั่งคั่ง จากคนรวย แต่เอาจริงแทบเก็บไม่ได้เพราะต่างหาช่องโหว่เสียภาษีในอัตราที่น้อยลง ใจกลาง กทม. มีแต่สวนป่า ส่วนผลไม้เต็มไปหมด เป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่กำลังสร้างตัว ลงทุนซื้ออสังหาเพื่อความมั่นคงต่ออนาคต ต้องมาจ่ายภาษีเต็ม
ในงบฯ 65 รัฐบาลเรียกเก็บเงินจากรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพิ่มขึ้น 5% เช่น สาขาพลังงาน 3 หน่วยงาน กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ต้องนำเงินคงคลัง 45% ของกำไร แต่ในปีงบประมาณ 65 และ 66 ต้องนำรายได้ส่งคลังเพิ่มเป็น 50% หมายถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่ทำผิด แต่เป็นการบอกว่ารัฐบาลนี้สิ้นไร้ไม้ต่อไม่รู้จะเอาเงินจากไหน และผิดเต็มๆ คือ ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจขูดรีดประชาชนต่อ เช่น คกก.กำกับกิจการพลังงานประกาศขึ้นค่าไฟในรอบ 2 ปี คือ ตอนนี้ 4 บาทต่อหน่วย โดยรัฐบาลไม่มีการกำกับดูแล เพราะต้องการได้ส่วนแบ่งมาใช่หรือไม่ ถือเป็นการปล่อยให้ประชาชนไปตายเอาดาบหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐวิสหกิจทั้ง 3 แห่งนี้ จะต้องส่งเงินเพิ่มให้รัฐบาล แต่ก็ยังมีกำไรรวมกันมากกว่า 3 หมื่นกว่าล้านบาท ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยรัฐบาลต้องไปกำกับไม่ให้ขึ้นค่าไฟ ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลหาเงินไม่เป็น ใช้เงินมือเติบ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าฝ่ายค้านวิจารณ์ไม่มีอะไรใหม่ ขอให้ทำความเข้าใจว่ารัฐบาลทำงบประมาณด้วยโครงสร้างแบบเดิม ไม่มีทิศทาง หากจะเปลี่ยนแค่ปีงบประมาณเท่านั้น
น.ส.จิราพร กล่าวด้วยว่า ฝั่งรัฐบาลกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านเล่นการเมืองไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 แต่ตนมองว่า หากรับร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะช่วง 8 ปี พบว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ สร้างรายได้ไม่เป็น ใช้เงินไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่วางรากฐาน เมื่อต้องการสร้างรายได้ จึงรีดภาษีให้มากขึ้น ขณะที่ประชาชนลำบาก หากปล่อยให้ผ่าน วิกฤตจะวนซ้ำซาก ไม่เห็นอนาคตของประเทศ ดังนั้น ขอให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 ตกไป และให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนมาทำงบประมาณเพื่อคืนความหวังให้คนไทย