รองนายกฯ ย้ำ หาก พ.ร.บ.งบฯ ถูกตีตก “ประยุทธ์” มีสองทาง ยุบสภา-ลาออก ชี้ เป็นประเพณีควรปฏิบัติ รับกระทบ พ.ร.ป.เลือกตั้ง แต่ไม่ถึงทางตัน แถม รบ.ยังเชื่อว่าผ่าน แซวสื่อบี้ถามชักจะหวั่นไหว
วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ฝ่ายค้านขู่จะคว่ำร่างให้ตกในสภา ว่า ตนขอตอบตามคำถาม แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร แต่หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกตีตกในสภานายกรัฐมนตรีมีสองแนวทาง คือ การยุบสภา หรือลาออก ซึ่งหากยุบสภา กว่าจะมีเลือกตั้งก็คงอีกนาน ระหว่างนั้นกว่าจะถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็ใช้งบประมาณปี 65 ไปพลางก่อน ซึ่งโดยปกติสำนักงบประมาณเขาก็จะให้ใช้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณนั้น แต่ว่าก็บริหารไปได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ เพียงแต่ว่าโครงการใหม่ๆ จะเกิดไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชี
เมื่อถามว่า เป็นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่ารัฐบาลจะต้องยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี แต่เป็นประเพณี
ถามต่อว่า หากเป็นประเพณีแล้วไม่ปฏิบัติได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ควร เมื่อมันเป็นประเพณีก็ควรที่จะต้องปฏิบัติ ลาออก หรือยุบสภา ไม่จำเป็นต้องยุบสภาแต่ลาออกก็ได้ เมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอกฎหมายย้ายเมืองหลวงไม่ผ่าน ท่านก็ลาออก เมื่อสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออก พ.ร.ก.แล้วให้สภาเห็นชอบเมื่อสภาไม่เห็นชอบ ท่านก็ยุบสภา
เมื่อถามว่า หากนายกฯลาออก ครม.ก็ต้องไปทั้งคณะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ทั้งยุบสภา และลาออก ก็ต้องออกทั้งคณะ แต่ยังต้องรักษาการต่อไป
ถามต่อว่า หากรัฐบาลยุบสภา หรือลาออก จะกระทบไปถึงการพิจารณา พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ายุบสภาก็ต้องชะงัก เพราะถ้าไม่มีสภาก็ไม่มีการพิจารณา วุฒิสภาก็ประชุมไม่ได้
ถามต่อว่า มีวิธีการแก้ปัญหาตรงนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่ผ่าน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็คุณคิดว่ามันจะไม่ผ่าน มันก็ไปเรื่อย ไปได้เยอะ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดอย่างนั้น
ถามว่า หากเกิดเหตุสะดุดตรงนี้ ในส่วนของกฎหมายลูกจะใช้เป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอยังไม่ตอบ เพราะจะใช้แบบไหนก็มีคนเถียงทั้งนั้น ข้อที่หนึ่งอาจจะใช้เป็นพ.ร.ก. ข้อที่สองอาจจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ประกาศ ข้อที่สาม เลือกโดยไม่ยึดระเบียบอะไร ก็จะถูกเถียงทุกอย่าง ซึ่งต้องไปศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถ้าศาลบอกว่าใช้ไม่ได้ที่เลือกมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด
เมื่อถามว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีทางออกใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไปหมดแล้ว จะสรุปอย่างไรก็แล้วแต่ มันมีทางออก แต่ทางออกนั้นอาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์ ไม่ยอมรับ เมื่อไม่ยอมรับ เขาก็ต้องไปร้อง และหากไปร้องแล้วศาลเห็นด้วยกับคำร้องอย่างในอดีต ที่มีคนไปร้องให้ศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็มีหลายครั้ง
เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ไม่ผ่าน การยุบสภา หรือลาออก วิธีไหนที่เหมาะสมกว่ากัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ ต้องไปคิดว่าจะเอาอย่างไร เมื่อไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ต้องเสนอใหม่อยู่ดี ถ้าหากลาออกแล้ว ได้รัฐบาลใหม่มาเขาเสนอเข้าสภา แต่องค์ประกอบสภายังเหมือนเดิมก็เสี่ยงกับการที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะถูกตีตกซ้ำซากอีก ก็ยุบสภาเสียดีกว่า เปลี่ยนสภาไปเสียเลย
ถามอีกว่า หากวันโหวตลงมติ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ถูกตีตก นายกฯจะต้องประกาศยุบสภาหรือลาออกในวันนั้น หรือมีกำหนดช่วงเวลาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เวลาจะประกาศยุบสภา นายกฯจะไม่บอกใคร อาจจะประกาศทันทีเลยได้ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะต้องยุบสภา หรือลาออกทันที หรือกี่วัน อาจทิ้งเวลาไว้เป็นเดือนก็ได้ ต้องไปดูจังหวะเวลาอันสมควร แตต้องจบลงด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่สภาไม่ผ่าน พ.ร.บ.เท่ากับว่า ไม่ไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป ฉะนั้น เมื่อรู้ตัวก็ควรจะลาออก หรือยุบสภา ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกรณีที่ พ.ร.บ.งบประมาณ ถูกตีตกในสภา
เมื่อถามต่อว่า หากยุบสภาแต่ยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งจะต้องทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า อันนี้ก็ใช่
เมื่อถามว่า ถ้า ส.ส.ตีตก พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าว มองว่า จะถูกโจมตีจากประชาชนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ แล้วทำไมสื่อถึงมาตั้งคำถามห้อมล้อมตนว่า พ.ร.บ.จะไม่ผ่าน ทำไมถึงคิดอย่างนั้น
ถามต่อว่า เพราะบรรยากาศของสภาส่งสัญญาณให้สังคมคิดเช่นนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เชิญตามดูกันต่อไป
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะผ่าน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่กล้าตอบ สื่อถามมามากก็ชักจะหวั่นไหว ตนเป็นรัฐมนตรีไม่มีสิทธิโหวต มีแต่จะไปอย่างเดียว แนวโน้มไม่มี มีแต่แนวนอน