xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับสูตรคำนวณ ส.ส.เป็นประเด็นใหญ่ถกในรัฐสภา เปิดช่องใครสงสัยอาจต้องส่งศาล รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกรัฐมนตรี รับสูตรคำนวณ ส.ส.เป็นประเด็นใหญ่ถกในรัฐสภา เปิดช่องใครสงสัยอาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะทูลเกล้าฯ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 25 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ส.ส.และ ส.ว. มีความเป็นห่วงเรื่องร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ว่า รัฐบาลไม่ได้มีความเป็นห่วง เพราะขณะนี้ยังไม่เสร็จ และหากเสร็จก็เข้าสภาก็ไปพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการลงมติกันไว้อย่างไร รัฐสภาก็อาจจะยืนตามนั้น หรือขอเปลี่ยนแปลงได้ โดยโหวตกันในที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภา ประชาชนก็ต้องเข้าใจด้วย เพราะมีประเด็นที่ทำให้เกิดความเห็นแตกต่างกันไม่กี่ประเด็น นอกนั้นก็เป็นเรื่องเล็กน้อย

เมื่อถามว่า วิธีคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อระหว่างหาร 100 หรือ 500 เป็นประเด็นใหญ่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง แต่กรรมการเสียงข้างมากก็มีมติให้หาร 100 อยู่แล้ว ถ้ารัฐสภาไม่เอาก็ต้องโหวตกลับ ตนบอกแล้วว่ายังไม่จบ ขอให้เชื่อว่าต้องส่งไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรืออาจต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะทูลเกล้าฯ

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเล็กพยายามโน้มน้าวพรรคเศรษฐกิจไทยว่าต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.หารด้วย 500 ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีผลต่อการโหวตเรื่องกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่อง ไม่รู้เบื้องหลัง รู้แต่ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ลาออกจากหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย อย่างอื่นไม่รู้ ส่วนจะส่งผลกระทบต่อเสียงฝั่งรัฐบาลหรือไม่ ไม่ทราบ ต้องไปถามคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มากกว่า

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของกฎหมายลูก 2 ฉบับ คาดว่า จะแล้วเสร็จเมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า คาดว่า กรรมาธิการจะนำเข้าสภาพิจารณาในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นเมื่อโหวตวาระ 3 แล้วก็จะส่งไปให้ กกต.พิจารณา 1 เดือน จากนั้นก็ส่งกลับมาที่รัฐสภา ระหว่างนั้นหากใครสงสัยก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าไม่มีใครส่งก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยมีเวลา 90 วัน

ส่วนหากช่วงนั้นมีอุบัติเหตุทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าทูลเกล้าฯ ไปแล้วก็เบาไปเปราะหนึ่ง แม้จะเกิดอะไรขึ้น เพราะกระบวนการก็เดินต่อไปเรื่อยๆ และกฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น