xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้กำกับหนุ่ย” ใช้ ​People Poll ใช้สำรวจตำรวจ ครบ 1 ปี ทำตำรวจชั้นประทวน-ผู้กำกับ บ่นเสียงเดียวกัน เหตุระบบยุ่งยาก ประเมินไม่ได้ตามสภาพจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผู้กำกับหนุ่ย” ใช้ ​People Poll ใช้สำรวจตำรวจ ครบ 1 ปี ทำตำรวจชั้นประทวน-ผู้กำกับ บ่นเสียงเดียวกัน เหตุระบบยุ่งยาก ประเมินไม่ได้ตามสภาพจริง แนะใช้องค์กรนอก สตช. - เอกชน เป็นเจ้าภาพให้ประชาชนประเมินตำรวจ

วันนี้ (16 พ.ค.) พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ สมาชิกพรรคกล้า และอดีตผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 กล่าวถึงระบบสำรวจความเห็นประชาชน ต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ (People Poll) ว่า เดือนมิถุนายนนี้ จะครบ 1 ปีเต็มที่ใช้ระบบ People Poll แต่ได้รับโทรศัพท์จากพี่น้องตำรวจชั้นประทวนระดับผู้ปฏิบัติ และระดับผู้กำกับหัวหน้าสถานี ว่าเป็นระบบที่สร้างความยุ่งยาก และไม่อาจประเมินได้ตามสภาพจริง

1) การสำรวจประชาชนอย่างน้อย 100 คนต่อเดือน ตัดยอดทุกวันที่ 20 เป็นตัวชี้วัดไม่ได้ เพราะจำนวนอาจน้อยเกินไปสำหรับโรงพักพื้นที่เมืองใหญ่ และอาจจำนวนมากเกินไปสำหรับโรงพักในพื้นที่ห่างไกล

2) การสำรวจโดยการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ประชาชนประเมินการทำงานของตัวเอง โรงพักละ 100 ต่อเดือน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 5 คน อาจทำให้สำรวจแค่บุคคลใกล้ชิด คนคุ้นเคย ทำให้ผลการประเมินไปเป็นไปตามธรรมชาติ และไม่ได้ข้อมูลตามความจริง

3) สภาพแวดล้อม และสภาพสังคม แต่ละพื้นที่โรงพักต่างกัน บางพื้นที่มีคดีเยอะ บางพื้นที่มีคดีน้อย การใช้ People Poll จึงไม่อาจวัดผลเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัด

4) แม้การประเมิน จะเป็นไปเพื่อการพัฒนาการให้บริการประชาชนเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ อาจส่งผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายได้ หากการวัดผลไม่อาจเปรียบเทียบได้ชัด การวัดผลนี้ก็อาจทำให้การแต่งตั้งโยกย้าย เกิดความไม่เป็นธรรม

5) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ไม่ได้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล คนน้อย สัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อย

6) ประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เนื่องจากต้องลงทะเบียน ประชาชนเกรงว่าตำรวจจะเอาข้อมูลในมือถือไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น

“ประชาชนหลายคนสะท้อนไปในโพล ว่า รู้สึกหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัย เลือกที่จะช่วยเหลือตัวเอง มีกล้อง CCTV มีรั้วสูง เลี้ยงหมาเฝ้าบ้าน เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วไม่รู้ว่าตำรวจจะช่วยได้แค่ไหน แถมไป โรงพักต้องรอสอบปากคำ เสียเวลาครึ่งค่อนวัน ช่วยตัวเองก่อนดีที่สุด แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหามโนตัวเลขไปพรีเซนต์นาย ว่าประชาชนพึงพอใจ” พ.ต.อ.ทศพล กล่าว

พ.ต.อ.ทศพล กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีระบบให้ประชาชนประเมินการทำงานของตำรวจ แต่ถ้าจะประเมินแล้ว ข้อมูลต้องแม่นย้ำและเชื่อถือได้ ควจจะใช้องค์กรภายนอก สตช. หรือเอกชน เป็นเจ้าภาพจัดทำการสำรวจความเห็นประชาชน ดีกว่าการใช้ตำรวจลงไปสำรวจความเห็นประชาชน จำนวนกลุ่มตัวอย่างประชาชน ก็ควรกำหนดให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมของแต่ละโรงพัก และควรหันไปพัฒนาเรื่องสวัสดิการที่พักอาศัย พักหนี้ดอกเบี้ยเงินหนี้สหกรณ์ และค่าเสี่ยงภัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถพัฒนาศักยภาพการทำงานของตำรวจได้เร็วกว่า ให้สมกับเป็น ตำรวจ ยุค 4.0 ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น