ยังไม่จบ! “นักข่าวดัง” ชำแหละ “เบื้องหลัง” การสังเวยนักข่าวช่องดัง เหตุใดไม่มีผู้บริหารข่าวร่วมรับผิด? “พุทธะอิสระ” จี้ จัดฉากล่อซื้อ “หลวงปู่แสง” สังคมลากคอ “ผู้กำกับบท” ประจาน ย้อน “โอวาทธรรม” กรรมทันตาเห็น
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 พ.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น “นักข่าวดัง” ชำแหละเบื้องหลัง การสังเวยผู้สื่อข่าวช่องดังจำนวนมาก
โดยระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และเกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรง เมื่อ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา พาทีมสื่อมวลชนบุกไปที่สำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังจากที่ปล่อยคลิป “หลวงปู่แสง ญาณวโร” จับหน้าอกผู้หญิง จนเกิดเป็นกระแสไม่พอใจ เนื่องจากว่า หลวงปู่แสง ชราภาพ และมีอาการอัลไซเมอร์
ต่อมาผู้สื่อข่าวหลายช่องได้ถูกทำโทษ กรณีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในการทำข่าวดังกล่าว แต่ก็มีชาวโซเชียลจำนวนมาก จี้ให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้บริหารของช่องต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ล่าสุด นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป นักข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Teejournalist โดยมีรายละเอียดว่า
“เสร็จนาฆ่าโคถึก …ถึงยุคนักข่าวสังเวยชีวิตจากข่าวหลวงปู่แสง
จากบทวิเคราะห์เมื่อวาน ที่ผมได้อธิบายเรื่องกระบวนการขั้นตอนทำข่าวนำเสนอข่าวขององค์กรสื่อ ที่ไม่ได้มีเพียงนักข่าวเพียงคนเดียว และไม่ควรตัดตอนแค่นักข่าวที่มีความผิด เพราะมีเรื่องของ “กระบวนการพิจารณาก่อนนำเสนอข่าว” ออกสู่สาธารณะด้วย แต่สุดท้ายเราจะเห็นสื่อต่างๆ เลือกลงโทษเฉพาะนักข่าวในที่เกิดเหตุ ผมจึงบอกว่า
“เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกหลวงปู่นักข่าวสังเวย”
หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วใครบ้างอยู่ในกระบวนการทำงานข่าวก่อนนำเสนอ และกระบวนการในอดีต องค์กรข่าวทำอย่างไรกันเมื่อมีการนำเสนอข่าวผิดพลาดของสื่อ ผมขอเล่าให้ฟังดังนี้ครับ
1. ในอดีตเมื่อสื่อถูกกล่าวหาว่า นำเสนอข่าวผิดพลาดหรือนำมาสู่การกล่าวหา ครหาจากสังคม หรือหรือฟ้องร้องดำเนินคดี สิ่งที่สื่อนั้นๆ จะทำ คือ กองบรรณาธิการไล่มาตั้งแต่ ผอ.ข่าว บก.ข่าว หัวหน้าข่าว รวมถึงนักข่าวที่นำเสนอจะมาประชุมเพื่อหารือข้อมูลข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ได้มา ก่อนนำเสนอข่าวดังกล่าว
2. ในความเป็นจริง ก่อนจะถูกกล่าวหา หรือฟ้องร้องในข้อ 1. การทำข่าวในอดีต กองบรรณาธิการทั้งหมดจะรู้เรื่องราวทั้งหมดอยู่ก่อนแล้ว “จะปฏิเสธเอาตัวรอดว่านักข่าวไปทำเองไม่รู้เรื่องไม่ได้” เพราะแปลความได้ว่า สำนักข่าวนี้ให้นักข่าวทำข่าวฟรีสไตล์ อยากเลือกทำอะไรก็ได้? ซึ่งผมไม่เชื่อว่า เป็นเช่นนั้น เพราะหากเป็นจริงถือว่า กระบวนการผลิตข่าวปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก
3. เช่น หากได้ Hint ประเด็นหลวงปู่มา นักข่าวจะต้องหารือหัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ก่อนนำเข้าสู่การหารือกับกองบรรณาธิการที่มี “ผอ.ข่าว” ผู้รับผิดชอบสูงสุดนั่งหัวโต๊ะ กรณีนี้หากมีการตรวจสอบข้อมูลกรณีหลวงปู่แสงให้ดีอาจไม่มีการทำข่าวนี้เกิดขึ้น หรือหากคิดว่า มีความเป็นไปได้จากพยานหลักฐานก็จะมีกระบวนการขั้นตอนการทำงานที่รัดกุม เพราะข้อมูลเบื้องต้นกองบก.ตรวจสอบพบแล้วดังนี้
- ท่านเป็นพระปฏิบัติพรรษาบวชของท่านยาวนาน
- เป็นพระสายหลวงปู่มั่น ที่เป็นที่นับถือ
- ไม่เคยมีข้อครหามาก่อนตลอดการครองสมณะ
- ประวัติครอบครัวท่านมีหลายท่านครองสมณเพศ
รวมถึงหัวใจสำคัญ คือ การกลั่นกรองตรวจสอบ “ก่อนนำเสนอสู่สาธารณะ” เมื่อได้ข่าวมา ไม่ Live ไม่รีบนำเสนอเพราะมีความเสี่ยงและสวนทางกับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มา
4. หลังการประชุมหารือของกองบรรณาธิการในข้อ 1. กรณีข่าวใดข่าวหนึ่งถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี กล่าวหา ครหา หากกองบรรณาธิการยืนยันความถูกต้องจะต่อสู้ในกระบวนการต่อไป เช่น สู้คดี ชี้แจงต่อสาธารณะถึงพยานหลักฐานในการนำเสนอข่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะรอด เพราะเป็นการนำเสนอบนพยานหลักฐานข้อเท็จจริง และ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” คำนี้จะได้ยินบ่อยในวงการสื่อ
5. แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า ตนเองมีความผิดพลาดทำผิดจริงจะมีการติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อเจรจา เบาสุด ถ้าเป็นสื่อส่ิงพิมพ์สมัยก่อน คือ ลงประกาศในสื่อตนเอง หรือสื่ออื่นเพื่อขออภัยขอโทษตามเงื่อนไข ของผู้ที่เสียหาย หรือสื่อทีวีก็จะทำในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยการแสดงคำขอโทษเสียใจจะไม่ได้ทำโดยนักข่าว แต่ทำโดย ผู้บริหารข่าวหรือในนามชื่อองค์กร
6. แต่หากผู้เสียหายไม่ยินยอม คดีขึ้นสู่ชั้นการสอบสวนหรือศาล คนที่จะถูกดำเนินคดีคนแรก “ไม่ใช่นักข่าว” แต่เป็น “บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” สำหรับหนังสือพิมพ์ และ “ผู้อำนวยการสถานีสำหรับโทรทัศน์” หรือแล้วแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะเลือกฟ้อง กรณีนี้เชื่อว่าหากไม่ได้ความเมตตาจากหลวงปู่เป็นผู้เสียหายอื่นจะไม่ยินยอมจบแค่เอานักข่าวมาลงโทษอย่างแน่นอน
7. ส่วนใหญ่แล้วนักข่าวที่กระทำผิดจะเป็นจำเลยในคดีลำดับท้ายๆ เมื่อเป๋นคดีความ หรือบางครั้งก็ไม่โดนดำเนินคดีก็มีเพราะหลักใหญ่จะถือว่า นักข่าวเป็นเพียงผู้ปฏิบัติเท่านั้น
8. อนึ่ง ผู้ประกาศเป็นอีกเรื่องสำหรับสื่อทีวี ที่ผู้ประกาศมักจะซวยเพียงลำพังเพราะเป็นผู้อ่านข่าว ที่คิดว่า กองบรรณาธิการกลั่นกรองมาแล้ว เวลาฟ้อง ผู้ประกาศจึงโดนไปด้วยหรือบางครั้งโดนก่อนโดนคนเดียว โดยกองบรรณาธิการไม่โดนก็มี ต้องยอมรับว่า ในข้อเท็จจริง ผู้ประกาศไม่มีเวลามานั่งอ่านหรือตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดก่อนออกอากาศได้ว่า “จริงหรือไม่”
ส่วนตัวผมชอบดูหนังจีนกำลังภายใน แต่ทุกเรื่องเมื่อแม่ทัพที่ออกรบกำลังพลาดพลั้งและจะพ่ายแพ้ ก็จะยอมสู้จนตัวตายนำหน้าเหล่าทหารที่เหลือ สู้จนชีวิตจะหาไม่ ผมไม่เคยเห็นแม่ทัพอยู่ข้างหลังแล้วโยนพลทหารให้มาตาย โดยแม่ทัพนั่งเฉยๆ หรือหนีกลับที่ตั้ง
ขอให้กำลังใจนักข่าวทุกคนที่โดนลงโทษเพียงลำพัง และขอให้สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียน หากจะต้องยึดวิชาชีพนี้ต่อไป แต่นักข่าวอีกหลายคน อาจเลือกไปเดินทำอาชีพอื่น เพราะจากภาพและข่าวที่ออกไปอาจทำให้ลำบากในการใช้ชีวิตต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ครับ
“ไม่เคยมียุคไหนที่…นักข่าวต้องสังเวยชีวิตจากการทำข่าวมาก่อน ยกเว้นกรณีการทำข่าวสงครามจริงเท่านั้น”
ขณะเดียวกัน พุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)” ว่า
“ยุคนี้ผู้สื่อข่าวเขารวมหัวกันสร้างเรื่อง เพื่อให้ได้ข่าวกันแล้วหรือ
กรณีการสร้างสถานการณ์ของหมอปลาและพวกนักข่าว เพื่อเข้ารุกไล่ ย่ำยีหลวงปู่แสง
มันทำให้สังคมได้รับรู้ถึงจิตใจของผู้กระทำว่ามันโสมม สกปรกเพียงใด
เพิ่งจะรู้นะว่า การที่จะเป็นคนให้ดูดี มีเอฟซีมากๆ ในยุคนี้ มันจะกล้าทำทุกอย่าง
โดยไม่สน ไม่ใส่ใจ ดี ชั่ว ถูก ผิดใดๆ ยิ่งไม่ต้องถามหามโนธรรมในจิตใจว่ายังมีกันอยู่หรือไม่
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า การตะเกียกตะกาย ขวนขวายเพื่อจะเป็นคนดี คนเด่น คนดัง นี่มันต้องทำกันถึงขนาดนี้ หรือว่ายุคสมัยนี้เขาไม่สนกับคำว่า ละอายชั่ว กลัวบาปกันแล้ว
หรือว่า สังคมยินยอม รับได้กับพฤติกรรมล่อซื้อ สร้างหลักฐานเท็จ โดยที่ความผิดนั้นๆ มันมิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ต้องไปสร้างเรื่องขึ้นมา เพื่อสร้างภาพให้เหยื่อนั้นกลายเป็นคนชั่วร้ายขึ้นในพริบตา
งานนี้ กรณีหลวงปู่แสงที่ถูกล็อกเป้า ดูจะมีการวางแผน แจกแจงหน้าที่เพื่อสร้างเรื่องอัปรีย์ ยัดเหยียดให้กับหลวงปู่แสง โดยใช้ความบกพร่อง อ่อนแอของเหยื่อ มาเป็นเครื่องหลอกล่อ แล้วบันทึกภาพเก็บหลักฐาน
พฤติกรรมสุดเลวแบบนี้ มันจะไม่สัมฤทธิ์ผลเลย ถ้าไม่มีผู้กำกับบท
ฝากสังคมให้ช่วยกันลากคอผู้กำกับบทกลุ่มนี้มาให้สังคมประณาม รุกไล่ให้หลาบจำเสียที อย่าปล่อยให้พวกไร้มโนธรรมพวกนี้ มีที่ยืนในสังคม”
ที่น่าย้อนให้เห็นไม่แพ้กัน กรณีวานนี้ (14 พ.ค.) ในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตได้มีแชร์ต่อคำกล่าวสอน หรือ โอวาทธรรม ของ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” จากเพจเฟซบุ๊กบุญ “พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น” ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 17 ธ.ค. 62 ที่ว่า
“...การทำบุญกับพระอรหันต์ อานิสงส์จะเกิดไว เพราะจิตของพระอรหันต์นั้น บุญท่านก็ไม่ค้าง บาปท่านก็ไม่รับ ทำบุญตอนไหน ท่านให้ตอนนั้น เช่นกันกับการทำบาป กรรมนั้นจะส่งผลเร็วมากเช่นกัน รับรองได้เห็นกันในชาตินี้แหละ ไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า...”
แน่นอน, ที่หยิบยกเอา “โอวาทธรรม” หลวงปู่แสง มาตบท้ายเรื่อง ก็เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่แสงเป็น “พระอรหันต์” หรือไม่ แต่ปรากฏว่า กรรมที่เกิดขึ้นแทบจะพูดได้ว่า “ออนไลน์” เลยทีเดียว
ส่วนคนทำผิดที่เหลือ ที่ยังไม่ได้รับกรรม หรือ สำนึกในบาปกรรม ตอนนี้กำลังถูกกดดันอย่างหนัก ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีคนรู้เห็นแค่ กลุ่มหมอปลา และนักข่าวภาคสนาม เพราะข่าวที่ออกมามีกระบวนการผลิตข่าวของต้นสังกัด มีผู้รู้เห็นและมีอำนาจตัดสินใจออกข่าวสูงกว่านักข่าวอีกมาก นอกจากนี้ ยังถูกตั้งคำถามถึง “ผู้กำกับบท” ที่อยู่เบื้องหลังมีหรือไม่ เป็นใคร คือ คนที่จะได้รับกรรมในลำดับต่อไปหรือไม่ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ก็แล้วกัน