“พล.อ.ประวิตร” ดันโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังนโยบายเปิดประเทศ ผ่านโครงการระบบขนส่งทางราง ขยายเส้นทางเพิ่มเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคเหนือ พัฒนาระบบดิจิทัลเข้าถึงชุมชน สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ดึงบุคลากรเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผนึกทีม ขับเคลื่อน พปชร. วางยุทธศาสตร์ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เจาะลึกความต้องการที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ เดินหน้าวาระแห่งชาติปี 65 ปราบปรามการค้ามนุษย์ ตั้งเป้าขึ้นบัญชีเทียร์ 2 ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเป็นผลสำเร็จ
วันนี้ (14 พ.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ที่จะช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยได้เร่งรัดโครงการพื้นฐานต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการที่กำกับดูแลในด้านต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการหลายหน่วยงาน ในโครงการขยายเส้นทางคมนาคมระบบรางที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่ความสำคัญ ต่อการใช้บริการของประชาชน และการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ ช่วยให้เกิดการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงโครงการนำระบบดิจิทัล ที่มีแผนกระจายไปยังชุมชนเพื่อสร้างโอกาสในมิติต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
“เชื่อว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังจากนี้จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ในการกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ขณะนี้ได้เร่งให้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเร่งจัดทำโครงการให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพราะต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องหาระบบและกลไกต่างๆที่จะไม่สร้างภาระกับประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่เพื่อดูแลปากท้องของประชาชน ผ่านกลไกส.ส.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูล ความต้องการที่แท้จริง ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งคนในพรรคและ คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทั้งภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ มาร่วมทีมในการวางยุทธศาสตร์ใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เพื่อการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละภาค”
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคเหนือ เชื่อมต่อกับช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ ในการดำเนินโครงการช่วง ปากน้ำโพ-เด่นชัย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีระยะทาง 280.544 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และ แพร่ โดย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีตนเป็นประธาน ได้ผ่านการเห็นชอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และมาตรการแผนการดำเนินงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ซี่งอีกไม่นานโครงการรถไฟรางคู่จะสามารถเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
ส่วนเป้าหมายการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนเข้าถึงระบบดิจิทัล ได้มีการพิจารณาโครงการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่ได้รับความสนใจมีผู้ยื่นขอรับทุน 646 โครงการแสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาของประเทศในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตของประชาชน ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ มีการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการพัฒนาประเทศ ยังมีมิติทางสังคมที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ยังเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นภัยทางสังคมและสุขภาพของประชาชน โดยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ และเวทีนานาชาติ
ในส่วนของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน พร้อมวางกลไกการส่งต่อระดับชาติ แนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการคดี การกำกับและติดตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM นับว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงปฎิบัติการเชิงรุกของทุกหน่วยงาน เพื่อผลักดันให้ประเทศ ได้รับการพิจารณาในรายงานทิพรีพอร์ต (2021 US TIP Report) จัดอันดับให้ไทยในอยู่ในลิสต์ของประเทศ เทียร์ 2 ในปี 2565
สำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการ ทั้งการป้องปราม รณรงค์ และการส่งเสริมลดการเผาขยะทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดในปี 2565 พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานลดลง รวมถึงจำนวนจุดความร้อนในจังหวัดภาคเหนือพบว่าลดลงร้อยละ 69 เป็นแนวทางที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่มีเป้าหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยภาพรวมทั้งประเทศ